๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๐

การวางแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ

การวางแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ

โดย นายวิชัย สุภาโสด วิศวกรชลประทาน 8 วช.
สำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน

สวัสดีครับท่านผู้อ่านวารสารข่าวเกษตรชลประทาน พบกันอีกครั้งในฉบับเดือนกันยายน 2550 ซึ่งเป็นฉบับส่งท้ายปีงบประมาณ 2550 เป็นเวลาหนึ่งขวบปีแล้วซินะครับที่เราไม่ได้พบกัน ผมรู้สึกว่าเราดูห่างเหินเดินห่างหูกันไปนานมาก เนื่องจากผมติดภารกิจหลักไม่มีเวลาสืบค้นหาข้อมูลมาเขียนเพื่อนำเสนอท่านได้ ประกอบกับพรรคพวกพี่น้องและเพื่อนฝูงต่างๆของผมก็มิได้ติดต่อสอบถามข้อมูลมา (ซึ่งเหตุผลที่ผมคิดไปเองว่า อาจจะเป็นเพราะพรรคพวกพี่น้องเหล่านี้ต้องแฝงกายและเก็บเนื้อเก็บตัวให้สงบเงียบไว้ ตามสภาพการที่อึมครึมและสนธยาของประเทศในช่วงนี้ หรืออาจจะเป็นเพราะผมฝีมือตกเมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก ก็เป็นได้) แต่แล้วในช่วงเดือนส่งท้ายปีงบประมาณ 2550 นี้เอง เพื่อนฝูงของผมคนหนึ่งซึ่งไปรับหน้าที่ชลประทานจังหวัดมาได้สักระยะแล้ว ได้ส่งเมล์ มาเล่าให้ฟังว่ามีความจำเป็นจะต้องไปร่วมทำแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ๆ กับหน่วยงานของจังหวัด จึงขอสอบถามความหมายของคำทางวิชาการบางคำ เช่น Desk Study , Reconnaissance Study , Preliminary Study , Prefeasibility Study ฯลฯ พร้อมทั้งขอให้ผมช่วยทบทวนความรู้ทางวิชาการด้านการวางแผนโครงการ (Project Planning) เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ และช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ด้วยให้ด้วย เพราะไม่ค่อยรู้จักใคร และเชื่อใจผม (ว่าเข้านั่น !!.. ) ผมอ่านเมล์นี้แล้ว นึกสลดหดหู่ๆไปกับความคิดของเพื่อนผมคนนี้มาก ว่าเขาคิดอย่างไรหนอที่ตัดสินใจที่เลือกผมเป็นพี่เลี้ยงเรื่องงานวิชาการให้ (หรือว่าเจ้าเพื่อนผมคนนี้ มันโลกแคบจริงๆ) เอาละเมื่อเขาฝากความหวังไว้ที่ผมแล้ว (โดยไม่รู้ความจริง) ผมก็จะพยายามช่วยเขาอย่างเต็มที เอ้ยเต็มที่ตามที่เขาหวังเอาไว้ (หวังลมๆแล้งๆ)
และเพื่อไม่ให้เขาผิดหวัง ผมจึงเริ่มดำเนินการค้นคว้าหาตำรับตำราและเอกสารทาง
วิชาการ จากเพื่อนๆที่เป็นนักวิชาการด้านนี้ ทำให้ได้ข้อมูลเรื่องการวางแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ มาพอสมควร เลยมีความคิดต่อไปว่า ไหนๆก็ได้ข้อมูลมาแล้ว หากสามารถเอาข้อมูลที่ได้นี้มานำเสนอต่อไป ก็อาจจะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านวารสารข่าวเกษตรชล-ประทานบางท่านได้ (สำหรับท่านที่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้ดีแล้ว ก็ต้องกราบขออภัยที่ไม่เจียมตัว ดันเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน) สำหรับแนวทางการนำเสนอเรื่องการวางแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ นั้น เนื่องจากมีข้อมูลเยอะมาก จึงขอแบ่งการนำเสนอออกเป็นส่วนๆ ดังนี้ คือ

การพัฒนาแหล่งน้ำ ( Water Resources Development) โดยทั่วไปแล้วการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ นั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
1. การวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำ (Basin Planning ) การวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการพัฒนาแหล่งน้ำในภาพรวม ได้แก่ การกำหนดปัญหา การกำหนดเป้าหมาย และการกำหนดมาตรการในการแก้ปัญหา โดยจะแบ่งระดับของการศึกษาออกเป็น 3 ระดับ คือ
1.1 การศึกษาการพัฒนาลุ่มน้ำเบื้องต้น (Desk Study)
1.2 การศึกษาแนวทางการพัฒนาลุ่มน้ำ ( Preliminary Study)
1.3 การศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำ (Comperhensive Study)
2. การวางแผนพัฒนาโครงการ ( Project Planning ) การวางแผนพัฒนาโครงการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ของโครงการทั้งทางด้านวิศวกรรม และความคุ้มค่าในการลงทุนตลอดจนผลกระทบสิ่งแวดล้อม และขีดความสามารถในการแก้ปัญหาของโครงการ โดยแบ่งระดับของการศึกษาออกเป็น 3 ระดับ คือ
2.1 การศึกษาโครงการเบื้องต้น (Reconnaissance Study)
2.2 การศึกษาวางโครงการ (Prefeasibility Study)
2.3 การศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study)

และเพื่อความเข้าใจร่วมกันในช่วงเวลาต่อไป ก็จะขอนำเสนอความหมายของการศึกษางานวางแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ให้ทราบพอสังเขป ดังนี้

การศึกษาพัฒนาลุ่มน้ำเบื้องต้น (Desk Study) การศึกษานี้เป็นการพิจารณาขั้นต้น เพื่อตอบสนองแผนการพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการ และแผนการใช้ที่ดิน โดยจะพิจารณาชี้ประเด็นปัญหาของพื้นที่ พิจารณากิจกรรมที่เป็นความต้องการน้ำ การตรวจสอบขั้นต้นของศักยภาพแหล่งน้ำพิจารณาสร้างทางเลือกในการแก้/บรรเทาปัญหาให้ครบถ้วน รวมทั้งการคัดทางเลือกที่ไม่เหมาะสมออก ทางเลือกที่ถูกคัดออกในขั้นตอนนี้มักจะเป็นทางเลือกที่เห็นได้โดยง่ายว่าไม่เหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องมีการคำนวณมากนัก มาสนับสนุน ผลที่ได้จากการศึกษา Desk Study นี้จะนำไปสู่การศึกษาลุ่มน้ำในระดับ Preliminary Study หรือการศึกษาโครงการในระดับ Reconnaissance Study ต่อไป นอกจากนี้โครงการต่างๆ ที่ได้รับการร้องขอจากการภาคประชาชน ก็ควรได้รับการตรวจสอบความเป็นไปได้ และผลกระทบ ในภาพรวมพร้อมกันไปด้วยในการศึกษาในขั้นนี้ เช่นเดียวกัน
การศึกษาโครงการเบื้องต้น ( Recconnaissance Study) การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาตรวจสอบความเป็นไปได้เบื้องต้นทางวิศวกรรมของโครงการ ที่ได้จากการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำในขั้น ( Desk Study) หากโครงการมีความเป็นไปได้ ก็จะใช้ผลจากการศึกษานี้ในการกำหนดขอบเขตของการสำรวจด้านต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำในระดับ Preliminary Study หรือ การศึกษาแผนพัฒนาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในระดับ Pre-feasibility Study ต่อไป
การศึกษาแนวทางพัฒนาลุ่มน้ำ ( Preliminary Study) เป็นการวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำที่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นจากการศึกษาในระดับ Desk Study โดยมีผลการสำรวจที่ได้รับจากการศึกษา Reconnaissance Study เพิ่มเติม ส่งผลให้การตรวจสอบและคัดเลือกโครงการสามารถทำได้ละเอียดขึ้น ในขั้นตอนนี้สมควรต้องมีการดำเนินการในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย และควรต้องเน้นเรื่องการดำเนินการเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจโครงการ มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ รวมทั้งพร้อมที่จะชี้แจงโครงการ หากการมีส่วนร่วมของประชาชนในขั้นตอนนี้ประสบความสำเร็จ จะมีผลทำให้การดำเนินการในขั้นตอนต่อไปราบรื่น ผลที่ได้จากการศึกษาในขั้นตอนนี้ จะนำไปสู่การ
ศึกษาในระดับ Comprehensive Study หรือ Pre-feasibility Study ต่อไป
การศึกษาวางโครงการ (Pre - feasibility Study) เป็นการศึกษาวางแผนพัฒนาโครงการ โดยมีรายละเอียดในการศึกษาเพิ่มขึ้นจากการศึกษาในระดับ Reconnaissance Study การศึกษาในขั้นตอนนี้จะเน้นรายละเอียดทางวิศวกรรม และการวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการทางด้านเศรษฐศาสตร์ ผลที่ได้จากการศึกษาในขั้นนี้สามารถนำไปใช้ดำเนินการต่อได้ใน 3 ลักษณะ คือ
ลักษณะที่ 1 หากเป็นโครงการขนาดกลางสามารถดำเนินการต่อในขั้นตอนออกแบบรายละเอียดและก่อสร้างได้เลย
ลักษณะที่ 2 หากเป็นโครงการขนาดใหญ่ให้ดำเนินการศึกษาในระดับ Feasibility Study แล้วจึงจะดำเนินการออกแบบรายละเอียด และก่อสร้าง
ลักษณะที่ 3 ใช้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำ (Comprehensive Study) ได้ โดยในกรณีนี้ได้ดำเนินการศึกษาแผนพัฒนาโครงการ ก่อนดำเนินการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำ
การศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำ ( Comprehensive Study) เป็นการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำเต็มรูปแบบอย่างบูรณาการ โดยมีความต้องการน้ำที่ชัดเจนทั้งในเชิงปริมาณ สถานที่ และเวลา รวมทั้ง มีเป้าหมายการบรรเทาอุทกภัยที่ชัดเจน ผลที่ได้จากการศึกษา คือแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งสามารถตอบสนองต่อความต้องการได้ ตลอดจนแผนการบริหารจัดการแหล่งน้ำ และการมีส่วนร่วมของประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลจากการศึกษาจะนำไปสู่การศึกษาจะนำไปสู่การศึกษาโครงการในระดับ Feasibility Study และอีกทางหนึ่งอาจจะนำไปสู่การปรับปรุงแผนพัฒนาทางด้านอื่นๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับในกรณีที่มีการศึกษาลุ่มน้ำในระดับ Comprehensive Study มาแล้ว หากระยะเวลาได้ผ่านไปเป็นเวลานาน ทำให้สถานการณ์ต่างๆได้เปลี่ยนแปลงไป ในกรณีนี้ควรมีการศึกษาเพื่อทบทวน Comprehensive Study เป็นระยะตามเวลาที่เหมาะสม ผลจากการศึกษานี้จะนำไปสู่การศึกษาโครงการในระดับ Feasibility Study และทบทวนแผนพัฒนาด้านอื่นๆ เช่นเดียวกันกับการศึกษาลุ่มน้ำในระดับ Comprehensive Study
การศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study ) เป็นการศึกษาเพื่อวางแผนพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ-สังคม ด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ ผลจากการศึกษานี้ หากโครงการมีความเหมาะสมจะนำไปสู่การออกแบบรายละเอียด และก่อสร้างโครงการต่อไป สำหรับในกรณีที่มีการศึกษา Feasibility Study อยู่แล้วแต่ได้รับข้อมูลทีสำคัญเพิ่มเติม หรือเมื่อระยะเวลาผ่านไปเป็นเวลานานแล้วโครงการยังไม่ได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป หากต้องนำมาพิจารณาตัดสินใจในการดำเนินการโครงการ ใหม่ควรมีการปรับปรุงข้อมูล และการศึกษาให้ทันสมัยขึ้น ก่อนจะดำเนินการโครงการในขั้นตอนต่อไป
การศึกษาเพื่อการติดตามประเมินผล (Project Monitoring Study) เป็นการศึกษาเพื่อติดตามประเมินผลโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแต่ละโครงการ ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างและนำมาใช้งานส่งน้ำให้ประชาชนแล้ว ว่าสามารถดำเนินการใช้งานได้บรรลุผลตามวัตถุ-ประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ โดยทำการรวบรวมข้อมูลสนเทศทั้งที่เป็นข้อมูลปฐมภูมิ และข้อมูลทุติยภูมินำมาประมูลผล วิเคราะห์ข้อมูลทั้งในเชิงปริมาณปริมาณและคุณภาพ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ-สังคม วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม และจัดทำรายงานการศึกษาประเมินผล พร้อมข้อเสนอแนะ ผลจากการศึกษานี้สามารถประเมินความสำเร็จของโครงการได้ หรือเมื่อประเมินแล้วได้ผลว่าโครงการเกิดปัญหาไม่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ อาจนำผลการประเมินไปสู่การปรับปรุงงานโครงการได้ในกรณีเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่มาก หรือการศึกษาความเหมาะสมเพื่อการปรับปรุงโครงการ หรือการปรับแผนการพัฒนาลุ่มน้ำ ต่อไป เมื่อองค์ประกอบของโครงการที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก
อย่างไรก็ตามการศึกษาทั้ง 7 ประเภทนี้ ไม่สามารถแยกเป็นอิสระจากกันได้ แต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันและมีระดับในการศึกษา

เราจะพบว่าโครงการใหม่สามารถเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ คือ แบบ Top-Down และแบบ Bottom-Up
แบบ Top-Down เป็นการกำหนดจากแผนพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการ ประกอบกับแผนการใช้ที่ดินในอนาคต เพื่อนำมาพิจาณาในการคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำในอนาคต ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของรัฐ ที่จะพัฒนาแหล่งน้ำไปรองรับความเจริญของประเทศชาติ การวางแผนลักษณะนี้ ควรเริ่มดำเนินการศึกษาที่แผนพัฒนาลุ่มน้ำ ในระดับ Desk Study หรือ Preliminary Study หรือ Comprehensive Study ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณและความพร้อมในการดำเนินการศึกษา
โครงการใหม่ที่เกิดขึ้นจากอีกลักษณะหนึ่ง คือ แบบ Bottom-Up ซึ่งจะเกิดจากการร้องขอของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากปัญหาทางด้านแหล่งน้ำ โครงการใหม่ในลักษณะนี้ มักจะเริ่มด้วยการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำ ในระดับการศึกษาการพัฒนาลุ่มน้ำเบื้องต้น ( Desk Study )
การสิ้นสุดของงานศึกษาวางแผน คือ การนำผลจากการศึกษาไปดำเนินการในขั้นตอนต่อไป นั่นคือการออกแบบรายละเอียด การก่อสร้าง และนำไปใช้ หลังจากที่ได้ใช้งานโครงการไปแล้วระยะเวลาหนึ่งแล้วควรมีการติดตามและประเมินผลโครงการ ผลจากการประเมินผลนี้อาจนำไปสู่การปรับปรุงการจัดการโครงการในกรณีมีผลกระทบไม่มาก หรืออาจนำไปสู่การศึกษาความเหมาะสมเพื่อปรับปรุงโครงการ หรือการศึกษาทบทวนแผนพัฒนาลุ่มน้ำ (Revised Basin Study) ในกรณีที่มีผลกระทบต่อวัตถุประสงค์การใช้งานอย่างมาก
สำหรับโครงการที่ได้มีการศึกษาความเหมาะสมไว้แล้ว แต่ยังมิได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งอาจจำเป็นต้องการศึกษาทบทวนโครงการ (Revised Feasibility Study) อีกครั้งก่อนที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

๔ กรกฎาคม ๒๕๕๐

ธรรมาภิบาลกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ธรรมาภิบาลกับเจ้าหน้าที่ในภาครัฐ
วิชัย สุภาโสด


ธรรมาภิบาล (Good governance) คือ การปกครอง การบริหาร การจัดการ การควบคุมดูแล กิจการต่าง ๆ ให้เป็นไปในครรลองธรรม นอกจากนี้ยังหมายถึงการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน ธรรมที่ใช้ในการบริหารงานนี้ มีความหมาย อย่างกว้าง หาได้มีความหมายเพียงแค่หลักธรรมทางศาสนาเท่านั้น ไม่แต่รวมถึง ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และความถูกต้องชอบธรรมทั้งปวง ซึ่งวิญญูชนพึงมีและพึงประพฤติปฏิบัติ อาทิ ความโปร่งใสตรวจสอบได้ การปราศจากการแทรกแซงจากองค์กรภายนอก เป็นต้น

ธรรมาภิบาล เป็นหลักการที่นำมาใช้บริหารงานในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุเพราะ ช่วยสร้างสรรค์และส่งเสริมองค์กรให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพ อาทิ พนักงานต่างทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริตและขยันหมั่นเพียร ทำให้ผลประกอบการขององค์กรธุรกิจนั้นขยายตัว นอกจากนี้แล้วยังทำให้บุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง ศรัทธาและเชื่อมั่นในองค์กรนั้น ๆ อันจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น องค์กรที่โปร่งใส ย่อมได้รับความไว้วางใจในการร่วมทำธุรกิจ รัฐบาลที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและประชาชน ตลอดจนส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ

การนำหลักการบริหารการจัดการบ้านเมืองที่ดี หรือหลักธรรมาภิบาลมาใช้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยเรา เพราะหลักธรรมาภิบาลก็คือ การบริหารที่สามารถตรวจสอบได้มีประสิทธิผล และเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ในภาครัฐได้เริ่มดำเนินการสร้าง “ธรรมาภิบาล” ขึ้นแล้ว กล่าวคือ ได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2542 ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับกับหน่วยงานของรัฐตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2542 เป็นต้นมา โดยระเบียบนี้กำหนดให้ทุกหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการบริหารจัดการโดยยึดหลักการ 6 หลัก โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1) หลักนิติธรรม : การมีเกณฑ์ยุติธรรมและชัดเจน (Fair Legal Framework) ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎข้อบังคับต่าง ๆ ให้ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย กฎข้อบังคับเหล่านั้น โดยถือว่าเป็นการปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอำเภอใจ หรืออำนาจของตัวบุคคล
2) หลักคุณธรรม : ความชอบธรรมในการใช้อำนาจ (Political Legitimacy)ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ยึดถือหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกันเพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบวิชาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจำชาติ
3) หลักความโปร่งใส : การมีการดำเนินการที่โปร่งใส (Transparency)ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติโดยปรับปรุงกลไกการทำงานขององค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวกและมีกระบวนการให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้
4) หลักมีส่วนร่วม : การมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Public Participation)ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอความเห็นในการตัดสินใจปัญหาสำคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติหรืออื่น ๆ
5) หลักความรับผิดชอบ : ความพร้อมรับการตรวจสอบ (Accountability)ได้แก่ การตระหนักในสิทธิหน้าที่ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมืองและกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาตลอดจนการเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง และความกล้าที่จะยอมรับผลจากการกระทำของตน
6) หลักความคุ้มค่า : การบริหารที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency and Effectiveness)ได้แก่ การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าบริการที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกและรักษาพัฒนา ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน

สำหรับในภาคเอกชนและภาคประชาสังคม การสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นนั้น ยังไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งประชาชนยังขาดความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างดีพอ จึงทำให้ยังขาดกลไกของการตรวจสอบและการกำกับดูแลในทางปฏิบัติงานเพื่อก่อให้เกิด “ธรรมาภิบาล” ขึ้น

บทสรุปส่งท้ายเรื่อง
กระแสโลกาภิวัฒน์กำลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วและรุนแรงต่อทั้งเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมของประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย ดังนั้น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนจะต้องสนับสนุนหลักทั้ง 6 ประการตามที่กำหนดในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อจะได้ร่วมกันปรับบทบาท ปรับวิธีการทำงานของแต่ละภาคให้สนับสนุนเกื้อกูลกัน ให้เกิดกำลังที่สามารถตักตวงผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์เข้าสู่ประเทศไทย อย่างไรก็ตามการสร้างธรรมาภิบาลจำเป็นต้องสร้างให้เกิดขึ้นในทุกระดับ กล่าวคือ
- ระดับบุคคล คือ ประชาชนตระหนักว่าตนเองมีอำนาจ กล้าใช้อำนาจบนความรับผิดชอบและเป็นธรรม
- ระดับประชาสังคม คือ การประสานสิทธิอำนาจของชุมชนเข้ากับการปกครองท้องถิ่นให้สอดคล้องกันได้
- ภาคธุรกิจเอกชน คือการบริหารการจัดการ ธุรกิจ เอกชน รัฐวิสาหกิจให้ตรวจสอบได้ โปร่งใส มีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบต่อสังคม
- ภาคการเมืองและภาครัฐ คือ การมีการบริหารจัดการที่ดี การกระจายอำนาจไปสู่ภาคท้องถิ่น มีการตรวจสอบภายในและระหว่างกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

จากหลักดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าการสร้างธรรมาภิบาลให้เข้มแข็งจำเป็นต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กันทั้งทุกส่วน ซึ่งในภาครัฐได้มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว แม้ว่าขณะนี้ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมมากนักและคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะทำให้ระบบราชการโปร่งใสได้ ซึ่งก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย สำหรับภาคเอกชนจำเป็นต้องเสริมสร้างให้เกิดธรรมาภิบาลขึ้น โดยควรมีการปฏิรูปภาคธุรกิจเอกชนให้เกิดความเข้มแข็งและความสุจริต วิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตกที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะภาคเอกชนดำเนินธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด โดยไม่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ดังนั้น จึงควรสร้างกลไกการตรวจสอบและการกำกับดูแลภาคธุรกิจเอกชน ที่โปร่งใสและชัดเจนขึ้น สำหรับภาคประชาสังคมควรให้มีความเข้มแข็ง โดยให้มีส่วนร่วมในระบบการบริหารจัดการประเทศมากขึ้น เมื่อมีการส่งเสริมการรวมตัวของประชาชนเป็นองค์กรต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และชุมชนท้องถิ่น และชุมชนอื่น ๆ ให้มีความเข้มแข็งแล้วก็จะก่อให้เกิดการคานและถ่วงดุลอำนาจของรัฐหรืออำนาจทางการเมืองได้


ที่มาของข้อมูล :-
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี
พ.ศ. 2542
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2542
เอกสารเผยแพร่ ของคุณ ปัญญา ฉายะจินดาวงค์

๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๐

แนวความคิดการพัฒนาทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตร


แนวคิดการพัฒนาทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตร

โดย นายวิชัย สุภาโสด วิศวกรชลประทาน 8 วช.
สำนักอุกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน

ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องการพัฒนาทรัพยากรน้ำ จะขออันเชิญ กระแสพระราชดำรัชของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช เกี่ยวกับเรื่องน้ำมีความว่า “ หลักการสำคัญว่า ต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่ามีชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำทุกคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ” จากกระแสพระราชดำรัชฯ ที่อันเชิญมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่มีความจำเป็นและสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆในโลก มนุษย์ต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยในการดำรงค์ชีวิตอยู่

และจากบทความของ UNESCO SOURCE No.84 November 1996 (พ.ศ.2539) เกี่ยวกับเรื่องน้ำ.. มีความว่า “ โลกอีก 50 ปีข้างหน้า จะประสพปัญหาวิกฤตการณ์การขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง สาเหตุเนื่องจาก การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรโลก และขาดแคลนการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง” จากปัญหาดังกล่าว เราจำเป็นจะต้องทำการพัฒนาแหล่งน้ำให้ได้ผล และเป็นเรื่องความจำเป็นที่สำคัญ ที่สุดก่อนการพัฒนาใดๆ …เนื่องจากว่าถ้าเราปราศจากน้ำ เราก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้

สาเหตุความจำเป็นต้องมีการจัดการน้ำในประเทศไทย
เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรประมาณ 63 ล้านคน โดยปริมาณกว่า 40 ล้านคน หรือประมาณ 63.5 % ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ มีอาชีพทางการเกษตร และเกษตรต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ 320.7 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตรประมาณ 132.7 ล้านไร่ หรือ 41.4 % และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น (พื้นที่การเกษตรมีความต้องการใช้น้ำสูง) แต่ทว่าปัจจุบันมีพื้นที่ชลประทานที่สนับสนุนภาคการเกษตร ได้ 23.57 ล้านไร่ หรือประมาณ 17.8% เท่านั้น ส่วนพื้นที่การเกษตรที่เหลืออีก 82.2% จะต้องพึ่งแต่น้ำฝนตามธรรมชาติ ซึ่งมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ฐานรายได้ภาคการเกษตรมีความไม่แน่นอน ตามไปด้วย

หากจะกล่าวถึงเรื่องน้ำฝน ประเทศไทยมีปริมาณฝนที่ตกผันแปรระหว่าง 800 – 4,400 มม./ปี หรือเฉลี่ยประมาณ 1,468 มม./ปี โดยภาคใต้ตกมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือ ตามลำดับ หากคิดเป็นปริมาณน้ำฝนที่เกิดมีขึ้นในประเทศไทย จะเกิดมีขึ้นประมาณปีละ 760,000 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) โดยประมาณ 71.7 % จะระเหยกลับไปในอากาศและไหลซึมลงใต้ดิน ส่วนอีก 28.3 % หรือประมาณ 215,000 ล้าน ลบ.ม. จะกลายเป็นน้ำท่า (มวลน้ำที่ไหลไปมาอยู่บนดิน) โดยน้ำท่าในประเทศไทยนี้จะเกิดมีในฤดูฝน ถึง 92 % และมีเหลืออยู่ในฤดูแล้งอีกเพียง 8 % เท่านั้น เนื่องจากความแตกต่างของสภาพภูมิประเทศ ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำท่า สภาพดิน การใช้ที่ดิน การเกษตรกรรม ฯลฯ ในแต่ละลุ่มน้ำ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องน้ำที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องน้ำหลาก น้ำท่วม หรืออุทกภัย เนื่องจากมีน้ำมากในฤดูฝน และเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ หรือน้ำแล้ง เนื่องจากมีน้ำน้อยในฤดูแล้ง อีกทั้งในปัจจุบันปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ อันเนื่องจากน้ำเสีย ก็ทวีความรุนแรง เพิ่มขึ้น สร้างปัญหาให้ภาคการเกษตรขึ้นมากมาย

จากปริมาณน้ำท่าที่เกิดมีในประเทศไทยประมาณ 215,000 ล้าน.ลบ.ม นั้น เราสามารถสร้างระบบเก็บกักในปัจจุบัน ได้เพียง 72,000 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียง 33.5 % เท่านั้น ส่วนน้ำท่าที่เหลือนั้นก็จะไหลลงท้ายน้ำและไหลลงสู่ทะเลไป และบางครั้งน้ำท่าที่ไหลลงท้ายน้ำก็จะทำให้เกิดอุทกภัย ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย โดยปัจจุบันมีแนวโน้มจะเกิดปัญหานี้ถี่ขึ้นมาก ขณะที่น้ำชลประทานที่เก็บกักไว้ในปัจจุบันประมาณ 72,000 ล้าน ลบ.ม. นั้นก็ยังสามารถนำมาใช้งานได้เพียง 45,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งไม่เพียงพอที่จะสามารถสนับสนุนการใช้น้ำในภาคการเกษตรฤดูแล้งที่เหลืออีก 82.7 % ได้ ทำให้ไม่สามารถใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรในฤดูแล้งได้เต็มศักยภาพ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้น้อย หากสร้างระบบชลประทานเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นได้ ก็สามารถบรรเทาความรุนแรงของอุทกภัยอันเนื่องจากมีน้ำมากในฤดูฝนลงไปได้ และยังสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเนื่องจากมีน้ำน้อยในฤดูแล้ง ได้ดีกว่าเดิม ซึ่งแนวทางดำเนินงานจะเรื่องนี้จะนำไปกล่าวในส่วนต่อไป

การพัฒนาพื้นที่ชลประทาน จากอดีต ถึง ปัจจุบัน
ก่อนอื่นจะขอกล่าวถึงคำว่า การชลประทาน ที่ท่านครูบาอาจารย์ในอดีตที่เคยสอนมาให้ทราบว่ามีความหมายถึง กิจการที่มนุษย์ดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อส่งน้ำไปให้แก่พืชการเกษตร(ปัจจุบันสถานะการเปลี่ยนแปลงไปมากภาระกิจเรื่องส่งน้ำให้พืช อย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ กิจกรรมการใช้น้ำต่างๆมีความเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ ภาระกิจของการส่งน้ำควรจะต้องอยู่ในรูปเอนกประสงค์หรือรูปแบบบูรณาการ การส่งน้ำให้พืชก็ต้องส่งให้ทันเวลาต่อความต้องการน้ำของพืช และจะต้องรวมไปถึงการระบายน้ำส่วนเกินออกนอกพื้นที่ก่อนพืชจะเสียหายด้วย)

เราแบ่งการชลประทาน ออกเป็น 2 ลักษณะตามสภาพการส่งลำเลียงน้ำ ได้ดังนี้
1. การชลประทานแบบ gravity โดยอาศัยแรงดึงดูดโลก ส่งน้ำจากที่สูงให้ไหลลงไปสู่ที่ต่ำ ซึ่งประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน นิยมดำเนินการแบบนี้ เพราะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไม่แพงมาก
2. การชลประทานแบบ pumping โดยอาศัยการสูบน้ำ ซึ่งสามารถส่งน้ำจากที่ต่ำไปสู่ที่สูงได้ ซึ่งบางครั้งก็มีความจำเป็นมาก เมื่อจุดใช้งานของน้ำอยู่สูงกว่าแหล่งผิวน้ำต้นทุน ซึ่งแน่นนอนว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอาจจะแพง เพราะเป็นสภาพที่ต้องฝืนธรรมชาติ โดยวิธีการส่งลำเลียงน้ำในลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะกระทำในระบบท่อ

การพัฒนาด้านการชลประทานของประเทศไทย
ประวัติการพัฒนาการชลประทานของไทยมีหลักฐาน ตั้งแต่ สมัยอาณาจักรลานนา ของพญามังราย เรื่อยมาจนถึง อาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาสมัยพระนารายณ์มหาราช และถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ปัจจุบัน โดยในส่วนนี้จะกล่าวเน้นเฉพาะที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาในปัจจุบัน เริ่มจากในสมัยรัชการที่ 5 ได้มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ มาวางโครงการพัฒนาระบบชลประทานในลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ แต่เนื่องจากต้องใช้งบประมาณมากเกินสถานะการเงินในขณะนั้น จึงแบ่งการพัฒนาออกเป็นแผนงานย่อย และทยอยดำเนินการเรื่อยมา เริ่มจากการขุดลอกคลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก คลองแสนแสบ และคลองพระขโนง ต่อมาเริ่มสร้างโครงการป่าสักใต้(เขื่อนพระราม 6)ที่ จ. อยุธยา พื้นที่ชลประทาน(พื้นที่ ชป.) 860,000 ไร่ และสร้างโครงการโพธิ์พระยา ที่ จ.สุพรรณบุรี โครงการนครนายก ที่ จ.นครนายก โครงการเชียงราก-คลองด่าน ที่ จ.ปทุมธานี โครงการป่าสักเหนือ ที่อยู่เหนือ จ.อยุธยา ขึ้นไป จากนั้นสร้างเขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท เพื่อทดระดับน้ำให้สูงขึ้น แล้วผันน้ำออกไปทางทุ่งฝั่งตะวันตก และทุ่งฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดเป็นโครงการชลประทานต่างๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในปัจจุบัน
ต่อมาเริ่มดำเนินการสร้างโครงการเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ปี 2500 เก็บน้ำได้ 13,462 ล้าน ลบ.ม.
และเริ่มดำเนินโครงการเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ปี 2506 เก็บน้ำได้ 9,510 ล้าน ลบ.ม.
อีกทั้งยังได้ขยายการพัฒนาเพิ่มดังนี้
โครงการแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เก็บน้ำได้ 710 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ ชป. 340,000 ไร่
โครงการกิ่วลม จ.ลำปาง เก็บน้ำได้ 110 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ ชป. 140,000 ไร่
โครงการแม่กลองใหญ่ จ.กาญจนบุรี (เป็นเขื่อนผันน้ำ) พื้นที่ ชป. 2,600,000 ไร่
โครงการลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เก็บน้ำได้ 1,430 ล้าน ลบ.ม.พื้นที่ ชป. 300,000 ไร่
โครงการลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา เก็บน้ำได้ 152 ล้าน ลบ.ม.พื้นที่ ชป. 70,000 ไร่
โครงการหนองหวาย จ.ขอนแก่น (เป็นฝายผันน้ำ) พื้นที่ ชป. 260,000 ไร่
โครงการน้ำอูน จ.สกลนคร เก็บน้ำได้ 520 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ ชป. 190,000 ไร่
โครงการโดมน้อยจ.อุลบราชธานี เก็บน้ำได้ 1,966 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ ชป. 183,044 ไร่
โครงการพิษณุโลก จ.พิษณุโลก (เป็นเขื่อนผันน้ำ) พื้นที่ ชป. 600,000 ไร่
ฯลฯ

การพัฒนาพื้นที่ชลประทานจากอดีตถึงปัจจุบันรวมทั้งหมด
แบ่งออกได้ดังนี้
- โครงการชลประทานขนาดใหญ่ คือโครงการที่มีพื้นที่ชลประทานมากกว่า 80,000 ไร่ ขึ้นไป หรือเป็นโครงการที่สามารถเก็บกักน้ำได้มากกว่า 100 ล้าน ลบ.ม.ขึ้นไป มีทั้งหมดมากกว่า 90 โครงการ มีพื้นที่รวมกันทั้งหมดมากกว่า 17 ล้านไร่
- โครงการชลประทานขนาดกลาง คือโครงการที่มีพื้นที่ชลประทานน้อยกว่า 80,000 ไร่ ลงไป หรือเป็นโครงการที่สามารถเก็บกักน้ำได้น้อยกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. มีทั้งหมดมากกว่า 750 โครงการ มีพื้นที่รวมกันทั้งหมดมากกว่า 7 ล้านไร่
- โครงการชลประทานขนาดเล็ก คือโครงการที่เก็บกักน้ำได้ไม่มาก มีแต่อาคารหัวงาน ไม่มีระบบส่งน้ำ มีพื้นที่ชลประทานน้อย ใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 1ปี เมื่อสร้างเสร็จแล้วส่งมอบให้จังหวัดดูแลใช้งานและซ่อมแซมบำรุงรักษาเอง มีทั้งหมดมากกว่า 9,800 โครงการ มีพื้นที่รวมกันทั้งหมดมากกว่า 9.5 ล้านไร่
ปัจจุบันมีพื้นที่ชลประทานรวมทั้งหมดมากกว่า 33.5 ล้านไร่ คิดเป็น 25.3 % ของพื้นที่การเกษตรของไทย

ศักยภาพและการใช้ประโยชน์พื้นที่ชลประทานแต่ละภาคในปัจจุบัน
แบ่งออกได้ดังนี้
- โครงการชลประทานขนาดใหญ่ทั้งหมด 85 แห่งที่กระจายอยู่ในภาคต่างๆ นั้น โดยเฉลี่ยแล้วมีพื้นที่มากกว่าโครงการละ 100,000 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพน้ำที่อุดมสมบูรณ์ดีมาก สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่การผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดขนาดใหญ่หรือตลาดเพื่อการส่งออกเชิงปริมาณ (Mass Production Unit) ที่ดีมาก เกษตรกรมีการเกาะกลุ่มรวมตัวกันดี มีการพัฒนาวัฒนะธรรมเรื่องการใช้น้ำที่มีศักยภาพและมีประสิทธิภาพ ภาครัฐสามารถเข้าไปส่งเสริมอาชีพการเกษตร และแนะนำเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตทางการเกษตรได้อย่างดีเยี่ยม
- โครงการชลประทานขนาดกลางทั้งหมด 745 แห่งที่กระจายอยู่ในภาคต่างๆ นั้น เป็นโครงการขนาดกลางที่มีพื้นที่เฉลี่ยประมาณ 9,000 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพน้ำที่ปานกลาง (แต่บางแห่งก็อุดมสมบูรณ์ดีมาก) สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่การผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศหรือตลาดเพื่อการส่งออกเชิงคุณภาพ (Quality Production Unit) ที่ดีมาก เกษตรกรมีการเกาะกลุ่มรวมตัวกันดี มีการพัฒนาเรื่องการใช้น้ำที่มีศักยภาพและมีประสิทธิภาพ ภาครัฐสามารถเข้าไปส่งเสริมอาชีพการเกษตรและแนะนำเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตทางการเกษตรในเชิงคุณภาพได้อย่างดีเยี่ยม แต่ควรตรวจสอบความเพียงของปริมาณน้ำต้นทุนก่อนวางแผนการส่งเสริม
- โครงการชลประทานขนาดเล็กทั้งหมด 9,791 แห่งที่กระจายอยู่ในภาคต่างๆ นั้น เป็นโครงการ ที่สามารถพัฒนาให้เป็น แหล่งผลิตอาหารชุมชน (Local Food Banks) ได้ แต่ทั้งนี้อาจมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง เพราะเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำที่มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการใช้น้ำเพื่อ อุปโภค-บริโภค เป็นลำดับแรก

สำหรับตำแหน่งที่ตั้งและรายละเอียดของโครงการชลประทานต่างๆนั้น สามารถสอบถามได้โดยตรงจากโครงการชลประทานจังหวัด ซึ่งได้ตั้งสำนักงานกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ และโดยที่โครงการชลประทานบางแห่งมีอายุการใช้งานมากกว่า 50ปี หากเล็งผลเลิศในการพัฒนาเป็นพื้นที่ Production Unit ที่สมบูรณ์แบบ อาจมีความจำเป็นต้องมีการพิจารณาดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมระบบชลประทานบางจุดที่สภาพชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ให้มีสภาพดีขึ้น เหมือนที่ออกแบบไว้แต่เดิม หรือปรับปรุงให้เข้ากับสภาพการใช้ที่ดินใหม่ ก่อนดำเนินการพัฒนาการเกษตรฯต่อไป

แนวทางการพัฒนาทรัพยากรน้ำในอนาคต
เนื่องจากรัฐได้กำหนดแนวนโยบาย เรื่องการขจัดความยากจนให้หมดภายใน 6 ปี ไว้เป็นวาระแห่งชาติ โดยพยายามจะยกระดับรายได้ของประชากรให้มีรายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 120,000 บาทต่อครัวเรือน ดังนั้นเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพส่วนใหญ่ของประชากรชาวไทย จะต้องถูกยกระดับรายได้ไปด้วย โดยแนวทางปฏิบัติทางหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้คือ การกำหนดมาตรการการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ส่งออก ให้เป็น 1.20 ล้านล้านบาท ภายในปี 2551 เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น (มูลค่าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ส่งออกในปี 2547 อยู่ที่ 0.89 ล้านล้านบาท) ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือน้ำ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาระบบชลประทานเพื่อการเก็บกักน้ำและใช้งานให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพสูงกว่าปัจจุบันนี้ จึงจะมีน้ำพอเพียงสนับสนุนภาคการผลิตทางการเกษตรนี้ได้จากสภาพการกระจายตัวของน้ำฝนและน้ำท่าที่ไม่สม่ำเสมอตลอดปี ดังที่นำเสนอไว้ข้างต้นแล้วจะส่งผลให้เกิดปัญหาอุทกภัยและปัญหาการขาดแคลนน้ำ รุนแรงขึ้น ดังนั้นจะต้องมีการพัฒนาระบบชลประทานเพื่อการเก็บกักและใช้งานให้มีศักยภาพ และประสิทธิภาพสูงกว่าปัจจุบันนี้ ประกอบกับศักยภาพของน้ำท่าที่มีเหลือจากกักเก็บในระบบชลประทานปัจจุบัน ยังมีอีกมาก ดังนั้นควรจะต้องทำการพัฒนาเพื่อเพิ่มระบบการเก็บกักน้ำและใช้งานให้มากขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาภาคการผลิตทางการเกษตรให้ได้ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

แนวความคิดในการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตรในอนาคต
1.แนวความคิดในการเหลียวหลังกลับไปดูโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและโครงการชลประทานเก่าๆ ที่ก่อสร้างมานานแล้ว และมีสภาพชำรุดทรุดโทรมเสียหายมาก ควรจะต้องถูกนำมาใช้ เพื่อดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงโครงการนั้นๆ ให้มีประสิทธิภาพดีเหมือนเดิมที่ออกแบบไว้ จะทำให้ได้น้ำชลประทานที่รั่วซึมเสียหายไปกลับคืนมาใช้ในพื้นที่การเกษตรท้ายน้ำได้เพิ่มขึ้น แหล่งเก็บกักน้ำขนาดต่างๆที่ก่อสร้างมานานแล้วต้องนำมาศึกษาความคุ้มทุน ที่จะดำเนินการขุดลอกเอาดินตะกอนเหนือระดับเก็บกักที่สามารถนำไปใช้งานได้ออกไป เพื่อที่สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มเติมขึ้น มาตรการนี้หากวิเคราะห์ดำเนินการแล้วคุ้มทุน ควรจะต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน เพราะเป็นมาตรการที่ไม่สร้างปัญหาการเวนคืนที่ดินที่มีผลกระทบต่อการกระเพื่อมไหวของมวลชน

2.แนวความคิดในการให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วม ในการดูแลการส่งน้ำบำรุงรักษาซ่อมแซมระบบชลประทานนั้น ควรจะต้องมีการส่งเสริมให้ดำเนินการเพิ่มมากขึ้น เพื่อปลุกจิตสำนึกของตัวเกษตรกรเอง ให้ทราบว่าระบบชลประทานนั้นเป็นเครื่องมือในการทำการเกษตรของตัวเขาเอง(เหมือนจอบ เหมือนเสียมหรือเหมือนรถไถนาของเขาเอง) หากรักษาระบบชลประทานมีสภาพดี มีการใช้งานอย่างถูกต้อง และมีอายุการใช้งานยาวนาน ก็หมายถึงการมีน้ำชลประทานให้ทำการเกษตรได้เพียงพอขึ้น ผลผลิตที่ได้ก็มีสูงขึ้น รายได้จากเกษตรของเขาเองก็จะสูงขึ้นตามมาแบบยั่งยืน

3.แนวความคิดในการใช้น้ำใต้ดินเสริม ในกรณีที่ขาดแคลนน้ำชลประทานเป็นช่วงๆ หลังจากที่เริ่มทำการเกษตรไปแล้วควรมีการพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดิน ทั้งประเภทบ่อตื้น และบ่อบาดาลแบบลึก เพื่อนำน้ำใต้ดินมาใช้งานเสริม เป็นครั้งคราว เพื่อจะเป็นหลักประกันให้เกษตรกรมั่นใจว่าจะไม่เกิดความเสียหายต่อผลผลิตในการทำการเกษตรของเขา โดยแนวทางนี้ จะต้องศึกษาให้ชัดเจนถึงแหล่งน้ำใต้ดินนั้นๆ ว่ามีปริมาณน้ำที่สามารถจะนำมาใช้งานได้ เท่าไร ถึงจะไม่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ตามมา

4.แนวความคิดในการใช้น้ำภาคการเกษตรอย่างประหยัดและคุ้มค่ากับผลผลิตทางการเกษตรที่ได้ ในวิธีการต่างๆ ควรจะต้องถูกนำออกมาใช้อย่างจริงจังให้ได้ผลออกมาอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนก่อน แล้วจึงตามมาด้วยมาตรการพัฒนาสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดต่างๆ ต่อไป เหตุที่ต้องเร่งปลุกจิตสำนึกเรื่องนี้ก่อน เพราะหากปล่อยให้มีการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยและได้ผลตอบแทนทางผลผลิตไม่คุ้มค่าไปเรื่อยๆ แล้ว การจะเร่งสร้างแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วปานใด ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการน้ำอย่างฟุ่มเฟือยนี้ มาตรการการใช้น้ำอย่างประหยัดนี้ อาจต้องมีการพิจารณาหาเทคโนโลยีการส่งน้ำที่มีการสูญเสียน้ำชล-ประทานให้น้อยลงมาใช้งานบ้าง เช่น ระบบMicro-irrigation ระบบสปริงเกอร์ ระบบน้ำหยด ฯลฯ แน่นอนว่าระบบการส่งน้ำพวกนี้ต้องมีต้นทุนการดำเนินการที่แพงมาก แต่หากถ้าวิเคราะห์แล้วว่าให้ผลตอบแทนคุ้มทุน เฉพาะกับพืชพวก High-value crops ก็น่าจะพิจารณานำมาส่งเสริมให้มีการดำเนินการ (กลุ่มประเทศทางยุโรป ประเทศอิสราเอล หรือประเทศออสเตรเลียมีการพัฒนาเรื่องนี้ดีมาก น่าจะทดลองศึกษามาเป็นต้นแบบ)

5.แนวความคิดในการเร่งการก่อสร้างและพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำขนาดต่างๆ รวมทั้งโครงการชลประทานขนาดใหญ่ขนาดกลางและขนาดเล็ก ควรจะต้องนำพิจารณาศึกษาความเหมาะสม และเร่งดำเนินการอย่างมีระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการชดเชยค่าที่ดินในเขตการดำเนินการ จะต้องถูกนำมาพิจารณาจ่ายให้ผู้ได้รับผลกระทบอย่างยุติธรรม คุ้มค่าในราคาตลาดจริง และอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันปัญหาการขัดแย้งกับมวลชนซึ่งส่งผลให้การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำต่างๆมีอันจะต้องล่าช้าออกไป และในทำนองเดียวกันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดต่างๆ รวมทั้งโครงการชลประทานขนาดใหญ่ขนาดกลางและขนาดเล็กที่เริ่มดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ควรจะต้องเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนงาน หรือเสร็จก่อนแผนงานให้ได้ โดยไม่มีผลกระทบด้านลบตามมา สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการหากภาครัฐมีไม่เพียงพอ ก็ควรมีการพิจารณาเรื่องการกู้เงินจากภาคเอกชนหรือแหล่งเงินกู้จากนอกประเทศมาดำเนินการ เพราะหากปล่อยให้ระยะเวลาผ่านไปเนิ่นนาน เกรงว่าถึงเวลานั้นแล้วหากมีเงินงบประมาณ ก็ไม่อาจสามารถดำเนินการได้ เพราะจะมีผลกระทบกับมวลชนที่รุกล้ำพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่แหล่งน้ำอย่างมากมายทับทวี

6.แนวความคิดในการสนับสนุนการขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่สาธารณะ และการสนับสนุนให้เกษตรกรขุดสระเก็บสำรองน้ำในพื้นที่การเกษตรของตนเอง ควรจะต้องถูกนำมาทำการส่งเสริมให้มีการดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อเร่งรัดการสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทยมากขึ้น พื้นดินจะได้มีความชุ่มชื้นและมีความอุดมสมบรูณ์เพิ่มขึ้น โดยที่น้ำเป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตรเบื้องต้น หากมีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดย่อยในพื้นที่ของเกษตรกรเอง เกษตรกรก็สามารถอาศัยใช้แหล่งน้ำนั้นๆ ทำเป็นแหล่งผลิตอาหารในครัวเรือน(ตู้เย็นธรรมชาติ)ได้ และหากมีผลผลิตเหลือจากการบริโภคในครัวเรือนแล้ว อาจนำไปจำหน่ายเพื่อหารายได้เสริม ทำให้มีรายได้มาจุนเจือครัวเรือนได้เพิ่มขึ้น

7.แนวความคิดในการส่งน้ำแบบ pumping โดยปกติระบบการชลประทานในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็นการส่งน้ำแบบ gravity โดยอาศัยแรงดึงดูดโลก ส่งน้ำจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ เพราะประหยัดพลังงานในการส่งน้ำ และค่าใช้จ่ายในการส่งน้ำจะไม่แพง แต่หากมีความจำเป็นต้องส่งน้ำจากที่ต่ำไปสู่ที่สูง เพื่อสนับสนุนการเกษตรในที่พื้นสูงได้ ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการส่งน้ำแบบ pumping รวมกับระบบท่อ มาใช้เสริมในกรณีที่ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่สูงนั้นได้ ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นนั้นบ่งชื้ได้อย่างชัดเจนว่ามีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอที่สามารถจะดำเนินการได้ เพียงแต่จะต้องพิจารณาถึงลักษณะการผลิตและผลผลิตการเกษตรที่ได้นั้น จะต้องให้ผลตอบแทนคุ่มค่าต่อต้นทุนการลำเลียงน้ำโดยวิธีดังกล่าวไปใช้งานด้วย

8.แนวความคิดในการผันน้ำในแม่น้ำระหว่างประเทศมาใช้งานเพิ่มเติม ควรจะต้องมีการเร่งรัดการดำเนินการออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนและเป็นอย่างรูปธรรม โดยเรื่องที่ต้องเร่งรัดก่อนอื่นใดคือการเริ่มดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการที่จะผันน้ำในแม่น้ำระหว่างประเทศนั้นๆ มาใส่ในแม่น้ำสายหลักๆของประเทศ เพื่อนำมาใช้งานในช่วงการขาดแคลนน้ำ และเร่งจัดทำแผนปฏิบัติงานต่อไป เช่น โครงการผันน้ำในแม่น้ำสาละวิน เขตติดต่อพม่า โครงการผันน้ำในแม่น้ำงึม เขตติดต่อลาว โครงการผันน้ำในแม่น้ำเซบังเหียง และเซบังไฟ เขตติดต่อลาว โครงการผันน้ำในแม่น้ำสตึงนัม เขตติดต่อกัมพูชา และโครงการผันน้ำในแม่น้ำโขง ฯลฯ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมาก

9.แนวความคิดในการเคลื่อนย้ายมวลน้ำส่วนหนึ่ง ที่มีปริมาณมากเกินไปจากพื้นที่บริเวณหนึ่ง ไปใช้งานหรือไปเก็บกักไว้ในพื้นที่ที่ปริมาณน้ำน้อย จะเป็นแนวทางที่จะแก้ไขหรือชลอปัญหา เรื่องอุทกภัย และการขาดแคลน ที่เกิดจากการกระจายตัวของน้ำฝนและน้ำท่าที่ไม่สม่ำเสมอตลอดปี ได้ โดยแนวทางการดำเนินงานอาจจะใช้แหล่งเก็บน้ำเดิมที่มีอยู่เป็นหลัก พร้อมทั้งก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำใหม่ๆเพิ่มขึ้น จากนั้นจะก่อสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงแหล่งน้ำต่างๆเข้าด้วยกันให้เป็น Network แล้วท้ายสุดก็สร้างระบบแพร่กระจายน้ำ เพื่อส่งลำเลียงน้ำนั้นๆไปพักตัวอยู่ที่ ห้วย หนอง บึง แหล่งน้ำขนาดเล็กตามธรรมชาติ รวมทั้งสระเก็บน้ำประจำแปลงการเกษตรของเกษตรกรตามโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ฯ ที่จะส่งเสริมให้ขุดเพิ่มมากขึ้น จะทำให้มีปริมาณน้ำใช้ในฤดูแล้งเพิ่มขึ้น และแก้ไขปัญหาพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซากได้ มาตรการนี้จะต้องใช้ค่าลงทุนที่สูงมาก ดังนั้นจะต้องเร่งทำการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในแผนปฏิบัติงานรายโครงการย่อยแต่ละแห่งโดยด่วน พร้อมทั้งเร่งลงมือดำเนินงานในพื้นที่ที่เหมาะสม อย่างจริงจัง

บทสรุปในภาคท้าย จะขอชี้ให้เห็นว่า ในอดีตประเทศไทยมีประชากรไม่มาก(สมัยเมื่อ 40ปีที่แล้ว ท่องจำได้ว่าประเทศไทยมีพลเมือง 20 ล้านคน) การส่งออกด้านการเกษตรมีไม่มาก แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีพลเมืองถึง 63ล้านคน การส่งออกภาคการเกษตรมีเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำเงินตราไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง(ซึ่งมีราคาทวีแพงขึ้นอย่างโหดร้ายทารุณ) ซื้อยานพาหนะฯ อุปกรณ์สื่อสารโทรคม-นาคม อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ต่างชาติเป็นผู้ผลิต และโดยที่ภาคการผลิตทางด้านการเกษตรมีความต้องการใช้น้ำมาก ฝนเป็นแหล่งน้ำหลักของประเทศ แต่ปัญหาก็คือจะมีน้ำฝนมากมายเหลือเฟือในช่วงหกเดือนของฤดูฝนเท่านั้น ในฤดูแล้งที่เหลืออีกหกเดือนมีให้ใช้น้อยมาก แนวทางที่พึงปฏิบัติคือพยายามใช้น้ำในฤดูแล้งให้ได้อย่างประหยัด พร้อมทั้งเร่งพัฒนาก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ ในช่วงที่เกิดมีน้ำมากอย่างเหลือเฟือไว้ เพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้ในฤดูแล้งพร้อมทั้งบรรเทาปัญหาอุทกภัย และด้านท้ายน้ำต้องพึงระวังเฝ้าสังเกตุการณ์เรื่องคุณภาพน้ำที่ผ่านการใช้งาน มาแล้วอย่างหนัก จากแหล่งต้นน้ำด้วย หากมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อการใช้งาน ก็ควรต้องมีขบวนการแก้ไขมาบำบัดคุณภาพน้ำ นั้นๆให้ดีขึ้น เหมาะสมที่จะน้ำไปใช้งานได้ต่อไป

สวัสดีครับ

๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐

องค์กรแห่งการเรียนรู้

ปรัชญาความรู้ข้างถุงกล้วยแขก
เรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้
โดย นายวิชัย สุภาโสด

สวัสดีครับท่านผู้อ่านฯ ชมรมคนกินกล้วยแขกเปิดบริการอีกแล้ว ครับท่าน สำหรับผมแล้วในช่วงเวลาระหว่างที่รอให้กระเพาะอาหารทำการย่อยกล้วยแขกที่ทานเสร็จไปนั้นจะถือว่าเป็นช่วงเวลาว่างงานพักเล็กๆของผม ถ้าไม่มีงานรออยู่หรือมีเพื่อนๆมาพบ ผมก็จะใช้เวลาว่างช่วงนี้อ่านเศษสิ่งพิมพ์ข้างถุงกล้วยแขกไปเรื่อย หากอ่านคร่าวๆแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระก็โยนลงตะกร้าขยะไป แต่หากอ่านแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีสาระและเป็นประโยชน์ก็จะจดจำไว้ หรือบางครั้งเห็นว่ามีประโยชน์มากๆ ก็จะบรรจงพับเก็บไว้ใช้งาน ต่อไป ในครั้งนี้มีอยู่ถุงกล้วยแขกอยู่ใบหนึ่งพูดถึงเรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้ เรื่องการใฝ่คว้าหาความรู้ของบุคคลต่างๆในองค์กร ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ดี จึงขออนุญาตนำมาเสนอให้ทราบ เนื่องจากในระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ท่านผู้อ่านฯหลายคนอาจจะชินหูกับคำว่า “องค์กรแห่งการเรียนรู้” หรือ “Learning Organization” ที่บรรดานักวิชาการทั้งไทยและเทศ ตลอดจนนักบริหารระดับสูงของประเทศได้กล่าวถึงบ่อยๆ เพราะนับแต่เราก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่นี้ ทุกๆคนมักพูดคุยกันถึงแนวทางการดำเนินชีวิต แนวทางการบริหารองค์กรและการบริหารประเทศ ซึ่งอิงกับการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆที่ล้วนแต่มีรากฐานมาจากการมีวัฒนธรรมการใฝ่รู้เป็นเบื้องต้นตลอดมา
เป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้บริหารที่จะตั้งปณิธานว่าจะทำองค์กรที่ตนบริหารงานอยู่นี้ เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ให้ได้ เพราะคิดว่าการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้นั้นหลักการง่ายๆก็คือ ผู้ปฏิบัติงานจะต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานที่สนใจใฝ่รู้ ให้ได้เสียก่อน พอใฝ่รู้และพัฒนาตนเองจนเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีองค์ความรู้แล้ว ก็จะสามารถขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ ดังนั้นจิตวิญญาณขององค์กรจึงอยู่ที่ผู้ปฏิบัติงานซึ่งทำให้องค์กรมีชีวิตมีลมหายใจและมีผลงาน หัวใจของการสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ คือการสร้างบุคลากรให้สนใจใฝ่รู้ มีความกระตือรือร้นอยากเรียนรู้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอให้ใครต่อใครมาสั่งให้เรียนรู้
แต่จากการสังเกตการณ์ที่ผ่านมาเรามักจะพบว่า เรื่องของการสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ และการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนนั้น จะไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งๆที่ผู้นำและผู้บริหารงานมีเจตนาดี แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาทำให้แนวความคิดเรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้ เป็นเพียงคำขวัญ หรูๆที่ขององค์กรเท่านั้น

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ และแนวทางแก้ไข มีดังนี้
1. ขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้งและถูกต้องเกี่ยวกับความหมายของการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
ปัจจัยแรกนี้เป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง เพราะในหลายองค์กร ผู้นำมักจะมุ่งไปที่วัตถุมากกว่าจิตวิญญาณหรือค่านิยม กล่าวคือผู้นำเน้นการมีคอมพิวเตอร์ วารสารสิ่งตีพิมพ์ การสร้างห้องสมุดต่างๆ มากกว่าที่จะสร้างความเข้าใจให้ผู้ปฏิบัติงานมองเห็นว่า “องค์กรแห่งการเรียนรู้ คืออะไร” การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์มากเครื่อง หรือมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่หัวใจขององค์กรแห่งการเรียนรู้ที่ถูกต้อง นั้น คือการที่สมาชิกทุกคนและทุกระดับในองค์กรมีความเข้าใจตรงกันในเรื่อง 2 เรื่อง ดังต่อไปนี้
1.1 องค์ความรู้หลัก (Key Knowledge)
สมาชิกทุกคนและทุกระดับในองค์กรต้องรู้จักองค์ความรู้หลักที่องค์กรมีอยู่ และสามรถนำองค์ความรู้หลักนี้ไปใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถนำองค์ความรู้ฯนี้ไปใช้ในการแข่งขันเพื่อทำให้องค์กรดำรงความอยู่รอด และอยู่เหนือกว่าคู่แข่งขันได้ องค์ความรู้หลักนั้นคืออะไร ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การเป็นแม่ค้าขายส้มตำ นั้น ก็ต้องมีองค์ความรู้หลักต่างๆ นับแต่การเลือกมะละกอ เทคนิคการสับมะละกอให้มีเส้นขนาดพอเหมาะกรอบอร่อย มีสูตรเด็ดในการปรุงน้ำส้มตำ มีเทคนิคในการปรุงส้มตำให้มีรสเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด ฯลฯ ได้รสเด็ดมาก ด้วยองค์ความรู้หลักนี้จึงสามารถทำให้ร้าน(องค์กร)ดำรงความอยู่รอด และอยู่เหนือกว่าคู่แข่งขันได้ หลายองค์กรได้ประกาศว่าจะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ แต่ผู้ปฏิบัติงานขององค์กรเองไม่แน่ใจหรือไม่รู้ว่าตนเองจะต้องเรียนรู้อะไร และรู้ไปทำไม ดังนั้นผู้บริหารหรือผู้นำจะต้องสร้างความกระจ่างในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติงานเสียก่อนจึงจะสามารถเดินไปสู่ความสำเร็จได้ ในการนี้ปรมาจารย์ด้านการจัดการจึงมักจะกล่าวเสมอว่า การที่จะทำให้บุคลากรในองค์กรรู้จักองค์ความรู้หลักขององค์กรที่ดีนั้น ผู้บริหารองค์กรควรทำการประเมินองค์กรว่าจุดเด่น จุดด้อย ของตนเองคืออะไร โดยข้อมูลจากการประเมินนี้จะช่วยให้ผู้บริหารและบุคลากรในองค์กรมองภาพได้ชัดเจนว่า องค์กรของตัวเองมีจุดเด่นอะไร หรือมีความรู้ในเรื่องอะไรที่เป็นจุดเด่นในการแข่งขัน และมีจุดด้อยอะไร หรือรู้น้อยในเรื่องอะไร ทั้งนี้ผู้บริหารควรให้ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมในการประเมินความสามารถขององค์กรด้วย จะได้มีความเข้าใจร่วมกัน และสามารถร่วมกับผู้นำในการกำหนดวิสัยทัศน์ในอนาคตขององค์กรว่า องค์ความรู้หลักที่สำคัญที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมนั้นมีอะไรบ้าง
1.2 องค์กรความรู้สนับสนุนในเรื่องอื่น (Supporting Knowledge)
เมื่อสามารถกำหนดได้แล้วว่าอะไรคือองค์ความรู้หลัก ลำดับต่อไปคือการกำหนดว่าอะไรคือความรู้อื่นๆที่จะช่วยให้สามารถปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น บางส่วนราชการมีทุนสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานไปฝึกอบรมมากมาย แต่แทนที่ผู้ปฏิบัติงานจะพอใจกลับบ่นว่า “ส่งให้ไปเรียนอะไรก็ไม่รู้ไม่เห็นเกี่ยวข้องกับงานเลย” ดังนั้นส่วนราชการคงต้องมีการทบทวนนโยบายเรื่องการฝึกอบรมให้ดี และสามารถชี้แจงให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถมองเห็นถึงประโยชน์ของการฝึกอบรมนั้นๆกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนได้จัดเจน เพื่อผู้ปฏิบัติงานจะได้ยอมรับและสนใจความรู้ที่จะได้รับจากการฝึกอบรมนั้นๆ และนำกลับมาใช้ในองค์กรต่อไปได้
2. ขาดการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการอยากเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง
วัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดของการจัดกระบวนการในการเรียนรู้นั้น คือ การฝังลึกในจิตวิญญาณของผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนให้เกิดเป็นความอยากรู้ มีความสนใจใคร่รู้ และมีพฤติกรรมใฝ่รู้ด้วยตนเอง หลายส่วนราชการเข้าใจผิดว่าการสร้างกระบวนการของการเรียนรู้ คือการจัดโครงการฝึกอบรมให้ผู้ปฏิบัติงานหลายๆหลักสูตร ซึ่งไม่ใช่เลย เพราะการจัดฝึกอบรมคือการให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานเป็นเรื่องๆไป แต่การสร้างกระบวนการแห่งการเรียนรู้ต้องเริ่มจากการนำจิตวิทยาเรื่องแรงจูงใจมากระตุ้นความจูงใจหรือความท้าทายให้ผู้ปฏิบัติงานมีความใฝ่รู้แบบไม่รู้จบ โดยมีวิธีจูงใจได้ 2 วิธี คือ
- สร้างแรงจูงใจภายนอก (Extrinsic Motivation) เช่น การให้รางวัลตอบแทน ให้คำยกย่องชมเชยแก่ผู้สนใจใฝ่รู้ ที่คิดค้นหาแนวคิดใหม่ ๆ มาปรับปรุงผลงาน
- สร้างแรงจูงใจจากภายใน (Intrinsic Motivation) คือ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีรางวัลหรือคำชมเชยมากระตุ้นล่อใจ ทั้งนี้พบว่าผู้ปฏิบัติงานจะมีความสนุกความพอใจกับงานที่ทำ เพราะชอบความท้าทายของงานที่ก่อให้เกิดการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ชอบที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเพื่อนร่วมงานที่แอคทีฟ(Active) และไฟแรงด้วยกัน ชอบที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประลองความคิดกัน ซึ่งทำให้การมาทำงานเป็นการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆเสมอๆ ดังนั้นความรู้สึกเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ส่วนราชการควรสร้างขึ้น ทำให้เกิดเป็นการจูงใจผู้ปฏิบัติงานอย่างลึกซึ้งและยั่งยืนยิ่งกว่าสิ่งจูงใจจากภายนอก ซึ่งพอหยุดให้รางวัลผู้ปฏิบัติงานก็เลิกเรียนรู้
3. ขาดการประเมินผลในการปฏิบัติงานตามเป้าหมายของการเรียนรู้
การขาดการประเมินผลในการปฏิบัติงานตามเป้าหมายของการเรียนรู้ ที่วัดผลได้ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม มีผลต่อการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้มาก ส่วนราชการส่วนใหญ่ยังขาดการจัดสร้างระบบประเมินผลที่สามารถวัดปัจจัยเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน เช่นเรื่องดังต่อไปนี้
- การประเมินผลในเรื่องทัศนคติ ค่านิยม ความเข้าใจเรื่องการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และการเป็นผู้ปฏิบัติงานที่ใฝ่รู้ หรือผู้ปฏิบัติงานที่มีองค์ความรู้ ส่วนราชการต้องจัดสร้างปัจจัยที่จะใช้วัดสิ่งที่เป็นนามธรรมเหล่านี้ออกมาให้เป็นรูปธรรมให้ได้ แล้วนำมาทำการประเมินเป็นระยะๆ ไป คือ ช่วงก่อน ช่วงระหว่าง และช่วงหลังการการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ แล้วมาใช้ตรวจสอบถึงพัฒนาการของผู้ปฏิบัติงานในองค์กรนั้นๆ ต่อไป
- การประเมินผลในเรื่องพฤติกรรมที่แสดงว่าผู้ปฏิบัติงานได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆและมีการนำความรู้นั้นไปใช้ในการสร้างนวัตกรรม หรือนำมาปรับปรุงผลงานของตนเองอย่างไร การดำเนินการเช่นนี้จะทำให้ทราบผลกระทบต่อผลงาน หรือทราบประสิทธิภาพของส่วนราชการนั้นๆ ด้วย
4. ขาดผู้นำที่สนับสนุนการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจริงจังและไม่ละทิ้งกลางคัน
เป็นที่น่าสังเกตว่าคนไทยเรานั้นมักมีผู้วิจารณ์ว่ามีนิสัยที่เบื่ออะไรง่าย ๆ ไม่มีความมุ่งมั่นหรือมีใจจดจ่อในการทำงานอะไรนาน ๆ ความข้อนี้จริงหรือไม่ คนไทยด้วยกันน่าจะรู้คำตอบดี แต่จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าผู้นำทั้งไทยและเทศนั้น หลายคนชอบเรียนรู้แนวคิดใหม่ๆ และอยากนำความรู้ใหม่ๆที่กำลังอยู่ในความนิยม มาใช้ในองค์กรที่ตนดูแลอยู่ แต่พอเริ่มทำไปได้สักพักยังเห็นผลงานไม่ชัดเจนก็เริ่มเบื่อ จึงหันไปหาแนวคิดอื่นๆมาทดลองใช้ใหม่

ในช่วงท้ายนี้จะขอเน้นให้เห็นว่า การที่จะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริงนั้น ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและระยะเวลาดำเนินการนานพอสมควร ดังนั้นผู้นำหรือผู้บริหารควรจะต้องมุ่งสร้างวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมใหม่ในการทำงานจนสามารถหล่อหลอมผู้ปฏิบัติงานให้เป็นสมาชิกที่ใฝ่รู้อย่างแท้จริงให้ได้ ถึงแม้จะใช้ระยะเวลานานก็ตามที เพื่อให้ได้ความสำเร็จตามเป้าประสงค์ ซึ่งคงเป็นจริงอย่างที่โบราณท่านว่า “ช้าๆ ได้พร้าสองเล่มงาม”

“ และนี่คือสิ่งละอันพันละน้อยที่ได้จากถุงกล้วยแขก ”
…สวัสดีครับ

เกษตรอินทรีย์ในมุมมองของข้าพเจ้า

เกษตรอินทรีย์ในมุมมองของข้าพเจ้า
โดย นายวิชัย สุภาโสด วิศวกรชลประทาน 8 วช.
สำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน

ครั้งหนึ่งกรมชลประทานได้ให้ข้าราชการที่สมัครรับการคัดเลือกเข้าสู่ระดับ 7 นำเสนอเอกสารแสดงวิสัยทัศน์ เรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกด้วย ครั้งนั้นข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าไปร่วมพิจารณาเอกสารดังกล่าวด้วย ในฐานะคณะทำงานฯ และจากการอ่านเอกสารดังกล่าวที่ผู้สมัครจำนวนมากนำเสนอให้พิจารณา ได้สังเกตุเห็นว่ามีข้าราชการจำนวนไม่น้อย พยายามนำเสนอแนวทางส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ มาใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านเอกสาร ทำให้แต่ละบุคคลไม่สามารถนำเสนอรายละเอียดได้มากนัก จึงทำให้เกิดมีข้อสงสัยในใจว่า แล้วจริงๆคำว่าเกษตรอินทรีย์คืออะไรแน่ มีแนวทางปฏิบัติอย่างไร และจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้จริงหรือไม่ ซึ่งข้อสงสัยนี้ยังค้างคาใจข้าพเจ้าอยู่เรื่อยมา และโดยเท็จจริงแล้วข้าพเจ้านั้นมีพื้นความรู้ด้านทรัพยากรน้ำและการชลประทานเป็นหลัก ส่วนความรู้ด้านการเกษตรแล้วมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นจึงได้ออกค้นคว้าหาตำรับตำราและเอกสารทางวิชาการ จากเพื่อนๆที่เป็นอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และเพื่อนๆข้าราชการจากกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ที่รู้จักกันสมัยร่วมทำงานเรื่องปรับโครงสร้างภาคการเกษตรที่กระทรวงเกษตรฯด้วยกัน ทำให้ได้ข้อมูลเรื่องเกษตรอินทรีย์มาพอสมควร เลยมีความคิดต่อไปว่า ไหนๆก็ได้ข้อมูลมาแล้ว หากสามารถเอาข้อมูลที่ได้นี้มานำเสนอต่อไป ก็อาจจะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้เข้ามาเยี่ยมชม web log นี้ บางท่านได้ (สำหรับท่านที่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้ดีแล้วก็ต้องกราบขออภัยที่ไม่เจียมตัว ดันเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน) โดยแนวทางการนำเสนอเรื่องเกษตรอินทรีย์ นั้น จะขอแบ่งการนำเสนอออกเป็นส่วนๆ ได้ ดังนี้

นโยบายของรัฐ ในเรื่องเกษตรอินทรีย์
นโยบายของรัฐ ในเรื่องเกษตรอินทรีย์นั้น เน้นว่าจะส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ทั้งส่งเสริมและจดทะเบียนสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการผลิตทางการเกษตรในทุกด้าน เพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้า และการเกษตรในอนาคต ซึ่งจะสามารถใช้เป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพของเกษตรกร ได้ทางหนึ่ง

เกษตรอินทรีย์คืออะไร
เกษตรอินทรีย์ คือการทำการเกษตรด้วยหลักธรรมชาติ บนพื้นที่การเกษตรที่ไม่มีสารพิษตกค้าง และหลีกเลี่ยงจากการปนเปื้อนของสารเคมีทางดิน ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศน์ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนสู่สภาพสมดุลธรรมชาติ และยังเป็นการทำการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์หรือใช้สิ่งที่ได้มาจากการตัดต่อพันธุกรรม เป็นการทำการเกษตรโดยใช้ปัจจัยการผลิตที่มีแผนการจัดการอย่างเป็นระบบ ภายใต้มาตรฐานการผลิตที่แน่นอน

สาเหตุที่ต้องให้ความสนใจเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
เนื่องจากมีการใช้ทรัพยากรดินโดยไม่คำนึงถึงผลเสียจากปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ ซึ่งทำให้เกิดความไม่สมดุลของแร่ธาตุและกายภาพในดิน ทำให้สิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ในดินนั้นสูญหาย หรือไร้สมรรถภาพ โดยความไม่สมดุลนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะถ้ากระบวนการนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่องตามมา กล่าวคือเมื่อผืนดินได้ถูกทำลายไปโดยกระบวนการนี้ โครงสร้างของดินก็จะสูญเสียความสามารถในการดูดซับแร่ธาตุตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนธาตุอาหารรองในพืช ต้นพืชจะอ่อนแอ ทำให้ผลผลิตที่ได้จากผืนดินดังกล่าวมีแร่ธาตุ วิตามิน และพลังชีวิต ต่ำ ต้นพืชจะขาดภูมิต้านทานโรคและทำให้เกิดการคุกคามของแมลงและเชื้อโรคได้ง่าย ซึ่งจะนำไปสู่การใช้สารเคมีฆ่าแมลงและเชื้อราเพิ่มขึ้น เมื่อผืนดินนี้ได้เสื่อมคุณภาพลง ก็จะมีวัชพืชเจริญเติบโตแข่งกับพืชหลักที่เกษตรกรปลูกขึ้น และนำไปสู่การใช้สารเคมีสังเคราะห์กำจัดวัชพืชต่อไป ข้อบกพร่องต่างๆที่เกิดขึ้นนี้ จะก่อให้เกิดวิกฤติต่อห่วงโซ่อาหาร พร้อมทั้งสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และทำลายระบบนิเวศน์ ในโลกเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรน้ำวึ่งมีการเคลื่อนที่ได้
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีเคมีการเกษตรมาใช้อย่างแพร่หลาย จนเกิดมีธุรกิจการค้าขายปุ๋ยเคมี ที่มีปริมาณนำเข้ามาในประเทศ ปีละ15,000 - 20,000 ล้านบาท และนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรอื่นๆอีก ปีละ 5,000 - 6,000 ล้านบาท เพื่อมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวนี้จะเห็นว่าการทำการเกษตรในประเทศไทย ต้องซื้อปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์มาใช้มาก ทำให้เกิดมีต้นทุนการผลิตที่สูง และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรของไทยในรอบยี่สิบปีผ่านมา ไม่ได้สูงขึ้นตามสัดส่วนของต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นนี้เลย ดังนั้นเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ของประเทศจึงมีรายได้ค่อนข้างต่ำมาก
เมื่อได้รับรู้และมองเห็นพิษภัยจากการทำเกษตรโดยวิธีใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีต่างๆ ว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ-อนามัย กับตัวของเกษตรกรผู้ผลิตเอง (โดยเกษตรกรบางรายต้องเจ็บป่วย บางรายต้องเสียชีวิตไป) และผลผลิตที่ได้นั้นๆก็ยังไปสร้างพิษภัยกับผู้บริโภคอีกต่อไปด้วย ดังนั้นจึงได้มีการพยายามแสวงหาวิธีทำการเกษตรอื่นๆที่ไม่ทำลายสุขภาพ-อนามัย เพื่อนำไปใช้ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตดังกล่าวแทน และในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมานี้ ก็เริ่มเกิดการรวมกลุ่มกันระหว่างเกษตรกรบางส่วนและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง กลับไปใช้วิธีทำการเกษตรแบบธรรมชาติดั้งเดิมหรือเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างผลผลิตทางการเกษตรตอบสนองความต้องการของตลาดและผู้บริโภคต่อไป โดยขบวนการผลิตนี้ก็จะไม่สร้างพิษภัยต่อตัวเกษตรกรเอง และไม่สร้างปัญหากับสภาพสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติแต่อย่างใด ด้วย
สภาพการตลาดของเกษตรอินทรีย์ปัจจุบันตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของโลก มีมูลค่าประมาณ 600,000 ล้านบาท ต่อปี ซึ่งมีรายละเอียดส่วนแบ่งการค้าของตลาดหลักๆอยู่ในประเทศ ดังต่อไปนี้
ประเทศต่างๆในสหภาพยุโรป มีมูลค่าประมาณ 250,000 ล้านบาท ต่อปี
- ประเทศสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท ต่อปี
- ประเทศญี่ปุ่น มีมูลค่าประมาณ 45,000 ล้านบาท ต่อปี
โดยสภาพตลาดจะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 25 ต่อปี ราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยทั่วไปจะสูงกว่าสินค้าปกติร้อยละ 25 – 50 (ขึ้นกับคุณภาพและมาตรฐานการผลิตที่มีการรับรองอย่างชัดเจนและเชื่อถือได้) อย่างไรก็ตามปริมาณสินค้าเกษตรอินทรีย์รวมทั้งโลกในปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ดังนั้นโอกาสและลู่ทางในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปขายในตลาดโลกของประเทศไทย ยังมีอยู่มาก
สำหรับประเทศไทยนั้นได้เริ่มต้นทำการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยกรมวิชาการเกษตรร่วมกับบริษัทในเครือนครหลวงและบริษัทในเครือสยามวิวัฒน์ ผลิตข้าวอินทรีย์ในท้องที่จังหวัดพะเยาและเชียงราย เนื้อที่ประมาณ 10,000 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 1,200 – 1,500 ตัน และส่งไปขายยังต่างประเทศภายใต้การควบคุมขององค์กรตรวจสอบคุณภาพของประเทศอิตาลี และต่อมาได้มีการผลิตกล้วยหอมอินทรีย์ส่งไปประเทศญี่ปุ่น โดยสหกรณ์การเกษตรท่ายาง ร่วมกับสหกรณ์ผู้บริโภคโตโต้ ในประเทศญี่ปุ่น มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 259 รายในเนื้อที่ 1,500 ไร่ มีผลผลิตของสมาชิกในโครงการประมาณ 2,000 – 2,500 ตัน/ปี
ปัจจุบัน กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงการนำร่องการผลิตพืชอินทรีย์เพื่อการส่งออกร่วมกับบริษัทส่งออก จำนวน 6 โครงการ โดยตั้งเป้าหมายการผลิตพืชอินทรีย์ 6 ชนิดเพื่อการส่งออก คือ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดฝักอ่อน กล้วยไข่ สับปะรด กระเจี๊ยบเขียว และขิง เพื่อส่งไปจำหน่ายยังประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา
ประโยชน์ที่ได้จากการทำเกษตรอินทรีย์
1. ทำให้ได้อาหารปลอดสารพิษสำหรับชีวิต ที่ดีกว่า
2. ทำให้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำเพื่อเศรษฐกิจ ที่ดีกว่า
3. ทำให้คุณภาพชีวิตและสุขภาพจิต ที่ดีกว่า
4. ทำให้ผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ ดีกว่า
5. ทำให้สิ่งแวดล้อม และมีการรักษาระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ ที่ดีกว่า
6. ทำให้คุณภาพผลผลิตทางการเกษตร ที่ดีกว่า ในด้านต่อไปนี้
- มีรูปร่างผลผลิตดีสมส่วน
- มีสีสวยเป็นปกติ
- มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ
- มีโครงสร้างของเนื้อนุ่มกรอบแน่น
- มีรสชาติดี
- ไม่มีสารพิษตกค้าง
- เก็บรักษาได้ทนทาน
– ให้สารอาหารและพลังชีวิต

มาตรฐานและข้อกำหนดเรื่องเกษตรอินทรีย์ในระดับสากล
จากที่ได้นำเสนอมาแล้วข้างต้นว่าการผลิตทางด้านเกษตรอินทรีย์นั้น จะต้องมีแผนการจัดการอย่างเป็นระบบภายใต้มาตรฐานการผลิตที่แน่นอน ดังนั้นจึงใคร่ขอนำเสนอมาตรฐานและข้อกำหนดเรื่องเกษตรอินทรีย์ในระดับสากล ของประเทศต่างๆให้ทราบดังนี้
- ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ (Organic food Production Act-OFPA) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) และมีการแก้ไขในปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996)
- ตลาดร่วมกลุ่มประเทศในยุโรป (European Unity : EU.) ได้มีการรวบรวมข้อกำหนดของผลิตผลเกษตรอินทรีย์ไว้ในข้อกำหนดของสภาตลาดร่วมยุโรป (EEC No.2092/91) และฉบับแก้ไข ข้อกำหนดส่วนใหญ่ให้คำแนะนำในการนำเข้าอาหารอินทรีย์ที่ผลิตจากประเทศอื่น ภายใต้มาตรฐานการผลิต และมาตรการตรวจสอบที่เหมือนกันทุกประการ
- ประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ประกาศใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2544 โดยอ้างอิงกฎหมายมาตรฐานเกษตรญี่ปุ่น(Japan Agriculture Standard – JAS)
- สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movement IFOAM) ได้จัดทำเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำสำหรับตรวจสอบรับรองด้านเกษตรอินทรีย์เป็นที่ยอมรับในกลุ่มประเทศในยุโรป
- สมาคมดินแห่งสหราชอาณาจักร (Soil Association UK) เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อเกษตรอินทรีย์ มีประวัติความเป็นมายาวนาน ได้พัฒนามาตรฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในสหราชอาณาจักร
- องค์กรเครือข่าย (Pesticide Network Action : PNA) เป็นองค์กรเครือข่ายของสหราชอาณาจักร และประเทศเนเธอแลนด์ ซึ่งมีกิจกรรมที่จะจัดทำมาตรฐานด้านเกษตรอินทรีย์สากลให้สามารถใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มาตรฐานและข้อกำหนดเรื่องเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย
ประเทศไทย ได้มีการกำหนดใช้มาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ หลังจากผ่านการปรับปรุงแก้ไขครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2543 โดยคณะทำงานเฉพาะกิจปรับปรุงมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ของประเทศไทยและผ่านการเห็นชอบ ของคณะกรรมการบริหารงานวิจัยและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีประเด็นหลักสำคัญของมาตรฐานการผลิต ดังนี้
พื้นที่ปลูกต้องไม่มีสารเคมีสังเคราะห์ตกค้าง
- ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ในกระบวนการผลิต
- ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ที่คลุกสารเคมีสังเคราะห์
- ไม่ใช้สิ่งที่ได้จากการตัดต่อทางพันธุกรรม
- ไม่ใช้มูลสัตว์มีการที่เลี้ยงอย่างผิดมาตรฐาน
- ปัจจัยการผลิตจากภายนอกต้องได้รับการรับรองมาตรฐานด้วย
- กระบวนการผลิตต้องปราศจากสิ่งปนเปื้อนสารเคมีสังเคราะห์ทั้งปวง
- ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างโครงการระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ ที่มีการดำเนินงานในปัจจุบัน มีดังนี้
1. โครงการผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพ อัลจินัว ของกรมวิชาการเกษตร ที่ดำเนินการในเขตชลประทานภาคกลาง โดยการลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง 50% และหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ "อัลจินัว" ( เป็นปุ๋ยชีวภาพที่เกิดการย่อยหมักเศษวัสดุที่เหลือทิ้งจากการทำการเกษตร กับหัวเชื้อปุ๋ยชีวภาพประเภทสาหร่ายเขียว ชื่ออัลจินัว) พบว่า ข้าวที่ได้จากใช้ปุ๋ยชีวภาพ "อัลจินัว" ร่วมกับปุ๋ยเคมีที่มีการลดจำนวนลง 50 % นี้ สามารถให้ผลผลิตข้าวสูงกว่าระบบใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดิม ถึง 10%
2. โครงการผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์ พันธุ์สุพรรณบุรี 1 โดยใช้น้ำหมักชีวภาพ ของเกษตรกรเครือข่ายการผลิตข้าวในโครงการพัฒนาเกษตรยั่งยืน สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ที่อยู่ ในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี สุพรรณบุรี และชัยนาท นั้น มีวิธีการใช้น้ำหมักชีวภาพ ประกอบกับการใช้ประโยชน์ได้ จนสามารถลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมี และพบว่าวิธีใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรพืชผัก ผลไม้ และสมุนไพร นั้นทำให้มีรายได้สุทธิสูง ถึง 1,541 บาท/ไร่ ส่วนวิธีใช้สารเคมีมีรายได้สุทธิเพียง 946 บาท/ไร่ คิดเป็นส่วนต่างรายได้สุทธิที่เพิ่มขึ้น 595 บาท/ไร่ (เพิ่มขึ้น 62.90%)
3. โครงการผลิตส้มโอเกษตรอินทรีย์ พันธุ์ขาวแตงกวา โดยลดสารเคมี 100% และลดปุ๋ยเคมี 85% ของนายเฉลิม อ่วมดี เกษตรกร ต.ท่าฉนวน อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ซึ่งปลูกส้มโอพันธุ์ขาวแตงกว่า จำนวน 260 ต้น พื้นที่ 16 ไร่ โดยใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรหอยเชอรี่ ผลไม้และสมุนไพร กับส้มโอขาวแตงกวา อายุ 12 ปี พบว่า วิธีการใช้น้ำหมักชีวภาพนี้มีรายได้สุทธิสูงขึ้น 50,867 บาท/ไร่ ส่วนวิธีใช้สารเคมี มีรายได้สุทธิเพียง 41,407 บาท/ไร่ คิดเป็นส่วนต่างรายได้สุทธิที่เพิ่มขึ้น 9,460 บาท/ไร่ (เพิ่มขึ้น 22.85%)
4. โครงการผลิตส้มโอเกษตรอินทรีย์ พันธุ์ขาวแตงกวา โดยลดสารเคมี 100% และลดปุ๋ยเคมี 50% ของแปลงเรียนรู้ ธ.ก.ส. จังหวัดชัยนาท โดยนายเสรี กล่ำน้อย เจ้าของสวนส้มพวงฉัตร ใช้น้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ ในการผลิตส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา บนพื้นที่ 67 ไร่ มีส้มโอจำนวน 2,500 ต้น ในช่วง 2 ปีแรก ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีเป็นจำนวนเงินประมาณ 200,000 บาทต่อปี ต่อมาในปีที่ 3 - 4 ได้เปลี่ยนแปลงการผลิตโดยลดการใช้สารเคมีลง 100% และลดปุ๋ยเคมีลง 50% แล้วหันมาใช้น้ำหมักชีวภาพสูตร ฮอร์โมนไข่ ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ และสมุนไพรแทน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพียงปีละประมาณ 50,000 บาทต่อปี สามารถลดต้นทุนลงได้ 150,000 บาทต่อปี (ลดต้นทุนลง 75%)
5. โครงการผลิตส้มเขียวหวานเกษตรอินทรีย์ โดยลดสารเคมี 80% และลดปุ๋ยเคมี 85% ของนายพินิจ เกิดรี เกษตรกร ต.หนองสรวง อ.วิหารแดง จ.สระบุรี ปลูกส้มเขียวหวานจำนวน 1,200 ต้น พื้นที่ 20 ไร่ โดยใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรหอยเชอรี่ ผักสด ผลไม้ ฮอร์โมนไข่นมสด และสมุนไพร ร่วมกับปุ๋ยหมักแห้งชีว-ภาพ พบว่า วิธีใช้น้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพนี้มีรายได้สุทธิสูง คือ 22,452 บาท/ไร่ ส่วนวิธีใช้สารเคมีนั้น มีรายได้สุทธิเพียง 18,910 บาท/ไร่ คิดเป็นส่วนต่างรายได้สุทธิที่เพิ่มขึ้น 3,542 บาท/ไร ่ (เพิ่มขึ้น 18.73%)
6. โครงการผลิตชมพู่เกษตรอินทรีย์ พันธุ์เพชรน้ำผึ้ง ของนางสมหมาย หนูแดง เกษตรกร (ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ด้านเกษตรกรรม) ต.หนองแขม อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ผลิตชมพู่พันธุ์เพชรน้ำผึ้งจำนวน 600 ต้น พื้นที่ 6 โดยใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรถั่วเหลืองหรือนมสด และปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพโดยไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมี ทำให้มีรายได้สุทธิจากการผลิตชมพู่อินทรีย์ประมาณ 55,536 บาท/ไร่ ส่วนวิธีใช้สารเคมีมีรายได้สุทธิเพียง 47,719 บาท/ไร่ คิดเป็นส่วนต่างรายได้สุทธิที่เพิ่มขึ้น 7,817 บาท/ไร่ (เพิ่มขึ้น 16.38%)
7. โครงการผลิตแตงกวาเกษตรอินทรีย์ ของเกษตรกรเครือข่ายการผลิตผักในโครงการ
พัฒนาเกษตรยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี ลพบุรี โดยใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรผักสด ผลไม้ ถั่วเหลือง หรือนมสด และปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ ในการผลิตแตงกวา (โดยลดปุ๋ยเคมีและสารเคมีลง 100%) พบว่ารายมีได้สุทธิสูงประมาณ 13,201 บาท/ไร่ ส่วนวิธีใช้สารเคมีมีรายได้สุทธิสูงประมาณ 11,928 บาท/ไร่ คิดเป็นส่วนต่างรายได้สุทธิที่เพิ่มขึ้น 1,273 บาท/ไร่ (เพิ่มขึ้น 10.67%)
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จะสามารถเห็นตัวอย่างความสำเร็จของการทำเกษตรอินทรีย์ได้ส่วนหนึ่ง แม้บางรายยังอาจไม่สามารถทำเกษตรอินทรีย์ ได้ตามมาตรฐานได้เต็มที่ 100 % นัก แต่ก็ได้แสดงความตั้งใจจริงที่ได้เริ่มดำเนินการให้เห็นแล้ว และจะเห็นว่าผลลัพธ์ตอบแทนการดำเนินงานนั้น มีค่าเพิ่มขึ้นสูงพอสมควร ทั้งในด้านการเพิ่มรายได้สุทธิและการลดต้นทุนการผลิต พร้อมทั้งยังให้สิ่งตอบแทนอีกมากมายที่ไม่อาจสามารถจะตีราคาได้ คือสุขภาพ-อนามัย ในตัวของเกษตรผู้ผลิตและครอบครัวของเขาเอง อีกทั้งยังสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ ส่วนหนึ่งของโลกไว้ได้ ด้วย

การจะปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ ควรจะมีการเริ่มต้นได้อย่างไร
การเกษตรปัจจุบันนั้นสามารถปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ได้ โดยเริ่มต้นศึกษาหาความรู้จากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต่างๆที่ถูกกำหนดขึ้นโดยกรมวิชาการเกษตร ควรเริ่มต้นด้วยความสนใจและศรัทธาในแนวทางการปฏิบัติอย่างจริงใจ สำนักงานเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ และเกษตรตำบล ในท้องที่ของท่านเป็นแหล่งที่จะให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์แก่ท่านได้ และเมื่อเริ่มต้นลงมือปฏิบัติตามแนวทางข้างต้นแล้วก็ถือได้ว่า ได้ก้าวเข้าสู่การทำเกษตรอินทรีย์ในระยะปรับเปลี่ยนแล้ว จากนั้นเมื่อสามารถปฏิบัติตามแนวทางอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไม่นานก็จะเป็นเกษตรอินทรีย์ได้สมบูรณ์แบบ ทั้งนี้จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับประเภทของเกษตรอินทรีย์ที่จะผลิตซึ่งได้ถูกกำหนดไว้ในมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว ข้อสำคัญนั้นอยู่ที่การทำความเข้าใจเกษตรอินทรีย์ให้ถ่องแท้ มีความตั้งใจจริง มีความขยันหมั่นเพียร ไม่ท้อถอยต่อปัญหาหรืออุปสรรคใด ก็จะบรรลุวัตถุประสงค์และประสบความสำเร็จได้ตามที่ตั้งใจไว้ และท้ายสุดเมื่อเกษตรกรมั่นใจว่าสามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ได้แล้ว ก็สามารถขอใบรับรองพืชหรือผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากภาครัฐ ที่สถาบันพืชอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตร เขตจตุจักร กทม. โทร 02-5797520 ( โดยภาครัฐจะมีส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจมาตรฐานการผลิต แล้วออกใบรับรองให้ต่อไป ) ซึ่งใบรับรองพืชหรือผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากภาครัฐนี้ จะเป็นหลักประกันให้ผู้บริโภคแน่ใจว่าเป็นผลผลิตจากการทำเกษตรอินทรีย์จริง ซึ่งแน่นนอนที่สุดในปัจจุบันคือสินค้าจากเกษตรอินทรีย์ที่มีมาตรฐานจริงยังมีความต้องการของตลาดอีกมาก ทำให้ระดับราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้นสูงกว่าสินค้าการเกษตรทั่วๆไป

บทสรุปเรื่องเกษตรอินทรีย์
จากที่ได้นำเสนอเรื่องเกษตรอินทรีย์ ตามข้อมูลดังกล่าวข้างต้นแล้วนั้น ในส่วนท้ายนี้จะขอสรุปภาพรวมให้ทราบว่า เกษตรอินทรีย์ คือระบบทำการเกษตรด้วยหลักธรรมชาติ เป็นระบบการผลิตที่คำนึงสภาพแวดล้อม รักษาสมดุลของธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีระบบการจัดการด้านนิเวศน์วิทยาที่คล้ายคลึงธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ ที่ก่อให้เกิดมลพิษในสภาพแวดล้อม รวมถึงการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ประโยชน์ด้วย หากเกษตรกรไทยสามารถนำรายละเอียดเรื่องเกษตรอินทรีย์นี้ไปใช้เป็นแนวทางในการผลิตทางการเกษตรได้ ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเกษตรอย่างยิ่ง กล่าวคือสิ่งแรกที่จะได้คือสุขภาพ-อนามัย ที่ดีต่อตัวของเกษตรผู้ผลิตและครอบครัวของเขาเอง โดยจะไม่ต้องไปผจญกับพิษภัยของสารเคมีสังเคราะห์ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อย่างโหดร้ายทารุณ (ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่าระบบความตายแบบผ่อนส่ง) ประโยชน์ต่อมาที่จะได้คือรายได้ที่เพิ่มขึ้น เพราะเกษตรอินทรีย์สามารถจะลดต้นทุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรจากปุ๋ยเคมีและสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตรต่างๆ ซึ่งปัจจุบันทวีราคาสูงขึ้นมาก โดยหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสมุนไพรต่างๆที่ต้นทุนถูกกว่า สำหรับรายได้ที่เพิ่มนั้นก็เป็นผลมาจากราคาผลผลิตที่แพงขึ้น ซึ่งหากสามารถสร้างขบวนการผลิตได้มาตรฐานถึงขั้นหน่วยงานของรัฐออกใบรับรองพืชหรือผลผลิตเกษตรอินทรีย์ให้แล้ว ก็จะเป็นหลักประกันให้ผลผลิตนั้นมีราคาสูงขึ้นได้ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนในตลาดระดับกลางและระดับสูงหันมาให้ความสนใจบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์มากเพราะมีความปลอดภัยต่อสุขภาพและอนามัยกับตัวเขาเอง อีกทั้งในปัจจุบันนี้จำนวนผลผลิตทางด้านเกษตรอินทรีย์ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดอย่างมาก (แต่ต้องควบคุมคุณภาพผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐานของตลาดนั้นๆ อย่างจริงจัง) ส่วนประโยชน์ที่จะเสนอในข้อสุดท้ายนี้ ก็คือเกษตรอินทรีย์เป็นขบวนการผลิตทางการเกษตรรักษาสภาพแวดล้อม และระบบนิเวศน์ของประเทศไว้อย่างมาก ทำให้ประหยัดงบประมาณของประเทศที่ต้องนำมาใช้แก้ปัญหาสารพิษตกค้างจากขบวนการผลิตทางการเกษตรสารเคมีสังเคราะห์ต่างๆ ได้ และสามารถนำงบประมาณนี้ไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ แทนต่อไป
ประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีความเหมาะสมในด้านต่างๆทั้งปวงที่จะผลิตสินค้าทางการเกษตรในระบบเกษตรอินทรีย์ได้ หากสามารถเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านนี้ในระดับนานาชาติได้ ก็จะใช้เพิ่มเป็นทางเลือกอีกช่องทางหนึ่งให้แก่เกษตรกรไทยในการแก้ไขปัญหาเรื่องความยากจนที่มีอยู่ และยังใช้เป็นช่องทางค้าขายของประเทศไทยเพื่อนำเงินตราต่างประเทศ มาแก้ไขวิกฤตการน้ำมันที่มีราคาแพงในปัจจุบันได้

สวัสดีครับ

ข้อแตกต่างระหว่างผู้แพ้กับผู้ชนะ

ปรัชญาความรู้ข้างถุงกล้วยแขก
ตอนข้อแตกต่างระหว่างผู้แพ้กับผู้ชนะ

โดย นายวิชัย สุภาโสด


ท่านผู้อ่านครับ ผมขอแนะนำตัวเองเพื่อใช้เป็น Background ประกอบการเล่าเรื่องนี้ซักนิดว่า นอกจากงานประจำในการรับราชการแล้ว อีกด้านหนึ่งผมก็เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาด้านชลศาสตร์ ที่โรงเรียนนายเรืออากาศ(ดอนเมือง) โดยสอนทั้งในภาคพื้นฐานกับชั้นปีที่ 3 และภาคประยุกต์ใช้งานไปจนถึงชั้นปีที่ 5 ด้วย และเมื่อต้นเดือนนี้ผมได้ตรวจข้อสอบกลางภาคเรียนของนักศึกษาชั้นปีที่ 5 เสร็จไป ผลปรากฎว่ามีนักศึกษาคนหนึ่งซึ่งเคยทำคะแนนได้เป็นลำดับที่หนึ่งทุกครั้งที่มีการสอบในวิชาของผมมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการสอบครั้งใหญ่ ครั้งย่อยทุกครั้งใดๆ มาตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 เรื่อยมา แต่ในครั้งนี้ลำดับคะแนนเขาตกลงไปมาก ไม่ได้เป็นลำดับที่หนึ่งเหมือนทุกครั้ง ดังนั้นในช่วงท้ายชั่วโมงของการเข้าห้องเรียนครั้งที่ผ่านมา ผมจึงได้สอบถามเหตุผลเขาไปว่า “ ทำไมเธอจึงทำคะแนนครั้งนี้ได้น้อย ทุกครั้งเธอเคยชนะเป็นที่หนึ่งตลอดมาไม่ใช่หรือ “ และคำตอบที่ผมได้รับคือ “ ท่านอาจารย์ครับตอนนี้ผมเปลี่ยนแนวทัศนคติและปรัชญาใหม่แล้วครับ ผมถือว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร “ ครับ ผมในฐานะที่เป็นอาจารย์น่ะ อึ้งไปกับคำตอบที่ได้รับนี้เลยครับ แต่ผมก็ขอให้เขาช่วยอธิบายถึงเหตุผลว่า ทำไมเขาจึงเปลี่ยนทัศนคติและปรัชญาใหม่มาเป็นแบบนี้ได้ และขณะเขากำลังพยายามจะตอบคำถามผมนั้น สัญญาณหมดชั่วโมงเรียนก็ดังขึ้น และนักศึกษาต้องย้ายห้องเรียนไปเรียนห้องอื่น ผมจึงบอกเขาไปว่าครั้งหน้าช่วยมาเล่าเหตุผลให้ฟังต่อด้วย จากนั้นผมก็เดินทางกลับมาทำงานต่อที่กรมชลประทาน(สามเสน) ด้วยรถของกองทัพอากาศที่มีทหารชั้นประทวนขับให้ เนื่องจากผมไม่ต้องขับรถเอง ดังนั้นระหว่างทางผมจึงได้มีเวลาครุ่นคิด ถึงทัศนคติและปรัชญาที่ว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร ซึ่งนักศึกษาผู้นั้นได้พยายามตอบให้ฟัง โดยคิดว่าทัศนคติและปรัชญาแบบนี้มันเป็นความจริงหรือ ? และหากคนทุกคนมีทัศนคติกันแบบนี้หมดผลมันจะเป็นอย่างไร แพ้เป็นพระ พระที่กล่าวถึงนั้น เป็นพระสงฆ์ หรือไม่ ? และถ้าเป็นพระสงฆ์หากพระสงฆ์ทุกองค์ท่านมีทัศคติแบบนี้ การบำเพ็ญเพียรทางธรรมเพื่อเอาชนะความโลภ โกรธ หลง ต่างๆ เพื่อหาทางให้หลุดพ้นจากบ่วงกรรม จะเป็นไปได้หรือไม่ ? และหากเมื่อพระสงฆ์ท่านบำเพ็ญเพียรทางธรรมจนสามารถชนะความโลภ โกรธ หลง ต่างๆ แล้ว ท่านจะกลายเป็นมารหรือเปล่า ? พอดีรถยนต์ที่ผมนั่งมานั้นเกิดเบรคกระทันหัน เพราะมีคนจะข้ามทางมาลาย จึงทำให้ผมสามารถหยุดฟุ้งซ่าน และดึงความคิดที่ได้เตลิดเปิดเปิงไปไกลนั้นกลับมาเข้าที่ได้ และพยายามไม่คิดเรื่องนี้อีกต่อไป เดี๋ยว นรกจะกินหัวกระ….. ตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่เคยพูดไว้

เนื่องจากผมยังไม่ได้ทานอาหารกลางวันเลย และขณะนั้นก็ใกล้เวลาบ่ายโมงซึ่งจะต้องรีบเข้าทำงานที่กรมชลประทานแล้ว ผมจึงได้ขอให้คนขับช่วยแวะจอดรถกลางทางซื้อกล้วยแขกทอด และน้ำชาเขียวที่กำลังนิยมกัน เพื่อนำกลับไปทานเป็นอาหารกลางวันที่ห้องทำงาน เมื่อรถยนต์ของกองทัพอากาศมาส่งผมที่กรมชลประทาน(สามเสน)แล้ว ผมก็ได้ลงมือเคลียงานต่างๆที่กองอยู่บนโต๊ะได้เสร็จในเวลาสามโมงเย็น และนึกได้ว่ายังไม่ทานอาหารกลางวันเลย จึงได้หยิบถุงกล้วยแขกทอด และน้ำชาเขียว เพื่อมาสำเร็จโทษเสียให้หายหิว หลังจากที่อิ่มแล้ว และด้วยการว่างงานชั่วคราวเพราะไม่มีอะไรจะทำ จึงหยิบถุงกล้วยแขกที่ทำด้วยหนังสือพิมพ์แต่ไม่รู้ว่าเป็นหนังสือพิมพ์ชื่ออะไร เพราะมันเป็นกระดาษเพียงครึ่งแผ่นเท่านั้น มาอ่านฆ่าเวลา(ซึ่งไม่รู้ว่าจะฆ่ามันไปทำอะไร เพราะมันไม่เคยสร้างความผิดหรือความขุ่นข้องหมองใจให้แก่ผมซักหน่อย) และแล้วสายตาและสมองผมก็ต้องบรรเจิดจ้าขึ้น กับข้อความข้างถุงกล้วยแขกนั้น เพราะมันคือสิ่งที่สามารถจะตอบปัญหาที่สับสนของผมเมื่อตอนเที่ยงนี้ได้ทั้งหมด โดยข้อความปรัชญาข้างถุงกล้วยแขกทั้งหมด ที่มีดังนี้
บางครั้งการยอมรับความผิดพลาดก็ช่วยทำให้เราได้รู้จักตัวเองได้ดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการได้เรียนรู้ชีวิตจากรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ จากข้อแตกต่างระหว่างผู้ชนะและผู้แพ้ ดังเช่น :

ผู้ชนะ - เมื่อพบว่ามีข้อผิดพลาดจะกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาและลงมือแก้ไขปัญหานั่น
ผู้แพ้ - เมื่อพบว่ามีข้อผิดพลาดเขาจะทำในทางตรงข้าม คือหลีกเลี่ยงปัญหา

ผู้ชนะ - จะยอมรับนับถือคนที่มีความสามารถเหนือกว่า
ผู้แพ้ – จะทำในทางตรงข้ามและจะพยายามหาข้อผิดพลาดของคนที่เหนือกว่าเหล่านั้นในเชิงการดูถูก ดูแคลน

ผู้ชนะ - จะพูดว่าฉันทำได้ดีแล้ว แต่ยังไม่ดีเท่ากับที่ฉันต้องการ
ผู้ แพ้ - จะพูดว่ายังมีคนอื่นอีกหลายคนที่มีผลงานแย่กว่าตัวเขา

ผู้ชนะ - เมื่อพบว่ามีข้อผิดพลาดจะพูดว่าฉันพูดผิดเอง
ผู้แพ้ - เมื่อพบว่ามีข้อผิดพลาดจะพูดว่าไม่ใช่ความผิดของฉัน

ผู้ชนะ - จะทำงานหนักกว่าปกติ และมีเวลามากกว่าผู้แพ้
ผู้แพ้ - จะทำงานแบบยุ่งทั้งวัน โดยที่ไม่คิดว่างานไหนควรทำก่อนทำหลัง

ผู้ชนะ - จะลงมือทำงานให้ปรากฏผลงานขึ้น
ผู้แพ้ - จะให้แต่คำสัญญา คือมีแต่ลมปาก แต่ไม่ลงมือ

ผู้ชนะ - จะตั้งใจฟังแล้วทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผู้อื่นพูด และสามารถตอบสนองได้
ผู้แพ้ - จะรออย่างเดียวโดยไม่ฟัง ไม่ทำความเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูด รอจนกว่าถึงคิวที่จะได้พูดเรื่องของ ตัวเอง

ผู้ชนะ - จะมีความรับผิดชอบไม่เพียงแต่งานที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น เมื่อมีเวลาเหลือก็จะลงมือช่วย เหลือคนอื่นด้วย
ผู้แพ้ - จะไม่กล้าที่จะช่วยเหลือคนอื่น และมักจะพูดว่าฉันไม่ว่าง กำลังทำงานอยู่ กรุณาอย่ามายุ่ง

ผู้ชนะ - ต้องมีวิธีที่จะทำให้ดีขึ้นได้เสมอ
ผู้แพ้ - จะพูดว่านี่คือหนทางเดียวที่ทำได้

ผู้ชนะ - จะแบ่งปันความรู้ที่มีไปยังเพื่อนๆของเขาได้ทราบ และบางครั้งเขาก็ยังได้รับทราบการพัฒนา ความรู้เรื่องนั้นๆ คืนกลับมาด้วย ทำให้มั่นใจในองค์ความรู้ และทักษะในการใช้ความรู้นั้นๆ เพิ่มด้วย
ผู้แพ้ - จะเก็บความรู้ที่มีอยู่ไว้ โดยไม่แบ่งปันให้ใคร เพราะว่าเขาจะไม่ต้องการให้มีคู่แข่งขึ้นมาดังนั้นเขาจึงไม่มีโอกาสที่จะรับรู้ได้เลยว่าความรู้นั้น มีความถูกต้องหมดหรือไม่เพียงใด

หลังจากผมได้อ่านข้อความบนถุงกล้วยแขกจบแล้วผมก็มีความเข้าในความแตกต่างระหว่างผู้แพ้และผู้ชนะได้เพิ่มมากขึ้น และเมื่อผมไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมใน Internet จาก Website แห่งหนึ่งซึ่งแนะนำให้รู้จักหนังสือเล่มหนึ่ง เรื่อง The Winner and The Lose โดยผู้เขียนเขาได้ให้ปรัชญาที่น่าฟังเกี่ยวกับผู้แพ้และผู้ชนะว่า “ ผู้ชนะนี่จะมองเห็นว่าเรื่องทุกเรื่องที่เขาจะทำนั้นมีหนทางของการแก้ไขปัญหาไปซะทั้งหมด แต่สำหรับผู้แพ้นั้นจะมองเห็นว่าเรื่องทุกเรื่องที่เขาจะทำนั้นดูเหมือนมีแต่ปัญหาไปทั้งหมด “ และถ้าจะต้องให้ผมเลือกว่าจะอยู่ข้างแพ้หรือข้างชนะละก็ ผมต้องคงขอเลือกอยู่ข้างชนะแน่ๆ เพราะเคยมีคนบอกไว้ว่า ชัยชนะนี่มันมีรสชาติอันหอมหวานน่าชวนสัมผัส และอีกอย่าง ก็คือผมชื่อ “ วิชัย “ ซึ่งมีความหมายว่า ชัยชนะนั้นเป็นสิ่งที่ดี (นั้น..ว่าเข้านั่น ไม่อายปากบ้างเลย น๊ะ..)

และสำหรับเจ้าลูกศิษย์คนโปรด(โปรดไปให้ไกลๆ…)ของผมนั้น เมื่อพบกันคราวหน้าในห้องเรียน ผมก็จะขอให้เขาอธิบายเหตุผลในการเปลี่ยนแนวทัศนคติและปรัชญาใหม่ให้ทราบ ซึ่งหากมีแนวความคิดและเหตุผลดีก็รอดตัวไป แต่หากมีแนวความคิดและเหตุผลที่ไม่ได้เรื่อง ผมก็จะส่งถุงกล้วยแขกที่ผมได้เก็บเอาไว้นี้ ให้เพื่อเอาไปใช้เป็นตำราประกอบการศึกษาเรื่องทัศนคติและปรัชญา ต่อไป

สวัสดีครับ……...