๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๐

แนวความคิดการพัฒนาทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตร


แนวคิดการพัฒนาทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตร

โดย นายวิชัย สุภาโสด วิศวกรชลประทาน 8 วช.
สำนักอุกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน

ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องการพัฒนาทรัพยากรน้ำ จะขออันเชิญ กระแสพระราชดำรัชของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช เกี่ยวกับเรื่องน้ำมีความว่า “ หลักการสำคัญว่า ต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่ามีชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำทุกคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ” จากกระแสพระราชดำรัชฯ ที่อันเชิญมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่มีความจำเป็นและสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆในโลก มนุษย์ต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยในการดำรงค์ชีวิตอยู่

และจากบทความของ UNESCO SOURCE No.84 November 1996 (พ.ศ.2539) เกี่ยวกับเรื่องน้ำ.. มีความว่า “ โลกอีก 50 ปีข้างหน้า จะประสพปัญหาวิกฤตการณ์การขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง สาเหตุเนื่องจาก การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรโลก และขาดแคลนการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง” จากปัญหาดังกล่าว เราจำเป็นจะต้องทำการพัฒนาแหล่งน้ำให้ได้ผล และเป็นเรื่องความจำเป็นที่สำคัญ ที่สุดก่อนการพัฒนาใดๆ …เนื่องจากว่าถ้าเราปราศจากน้ำ เราก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้

สาเหตุความจำเป็นต้องมีการจัดการน้ำในประเทศไทย
เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรประมาณ 63 ล้านคน โดยปริมาณกว่า 40 ล้านคน หรือประมาณ 63.5 % ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ มีอาชีพทางการเกษตร และเกษตรต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ 320.7 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตรประมาณ 132.7 ล้านไร่ หรือ 41.4 % และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น (พื้นที่การเกษตรมีความต้องการใช้น้ำสูง) แต่ทว่าปัจจุบันมีพื้นที่ชลประทานที่สนับสนุนภาคการเกษตร ได้ 23.57 ล้านไร่ หรือประมาณ 17.8% เท่านั้น ส่วนพื้นที่การเกษตรที่เหลืออีก 82.2% จะต้องพึ่งแต่น้ำฝนตามธรรมชาติ ซึ่งมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ฐานรายได้ภาคการเกษตรมีความไม่แน่นอน ตามไปด้วย

หากจะกล่าวถึงเรื่องน้ำฝน ประเทศไทยมีปริมาณฝนที่ตกผันแปรระหว่าง 800 – 4,400 มม./ปี หรือเฉลี่ยประมาณ 1,468 มม./ปี โดยภาคใต้ตกมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือ ตามลำดับ หากคิดเป็นปริมาณน้ำฝนที่เกิดมีขึ้นในประเทศไทย จะเกิดมีขึ้นประมาณปีละ 760,000 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) โดยประมาณ 71.7 % จะระเหยกลับไปในอากาศและไหลซึมลงใต้ดิน ส่วนอีก 28.3 % หรือประมาณ 215,000 ล้าน ลบ.ม. จะกลายเป็นน้ำท่า (มวลน้ำที่ไหลไปมาอยู่บนดิน) โดยน้ำท่าในประเทศไทยนี้จะเกิดมีในฤดูฝน ถึง 92 % และมีเหลืออยู่ในฤดูแล้งอีกเพียง 8 % เท่านั้น เนื่องจากความแตกต่างของสภาพภูมิประเทศ ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำท่า สภาพดิน การใช้ที่ดิน การเกษตรกรรม ฯลฯ ในแต่ละลุ่มน้ำ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องน้ำที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องน้ำหลาก น้ำท่วม หรืออุทกภัย เนื่องจากมีน้ำมากในฤดูฝน และเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ หรือน้ำแล้ง เนื่องจากมีน้ำน้อยในฤดูแล้ง อีกทั้งในปัจจุบันปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ อันเนื่องจากน้ำเสีย ก็ทวีความรุนแรง เพิ่มขึ้น สร้างปัญหาให้ภาคการเกษตรขึ้นมากมาย

จากปริมาณน้ำท่าที่เกิดมีในประเทศไทยประมาณ 215,000 ล้าน.ลบ.ม นั้น เราสามารถสร้างระบบเก็บกักในปัจจุบัน ได้เพียง 72,000 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียง 33.5 % เท่านั้น ส่วนน้ำท่าที่เหลือนั้นก็จะไหลลงท้ายน้ำและไหลลงสู่ทะเลไป และบางครั้งน้ำท่าที่ไหลลงท้ายน้ำก็จะทำให้เกิดอุทกภัย ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย โดยปัจจุบันมีแนวโน้มจะเกิดปัญหานี้ถี่ขึ้นมาก ขณะที่น้ำชลประทานที่เก็บกักไว้ในปัจจุบันประมาณ 72,000 ล้าน ลบ.ม. นั้นก็ยังสามารถนำมาใช้งานได้เพียง 45,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งไม่เพียงพอที่จะสามารถสนับสนุนการใช้น้ำในภาคการเกษตรฤดูแล้งที่เหลืออีก 82.7 % ได้ ทำให้ไม่สามารถใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรในฤดูแล้งได้เต็มศักยภาพ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้น้อย หากสร้างระบบชลประทานเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นได้ ก็สามารถบรรเทาความรุนแรงของอุทกภัยอันเนื่องจากมีน้ำมากในฤดูฝนลงไปได้ และยังสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเนื่องจากมีน้ำน้อยในฤดูแล้ง ได้ดีกว่าเดิม ซึ่งแนวทางดำเนินงานจะเรื่องนี้จะนำไปกล่าวในส่วนต่อไป

การพัฒนาพื้นที่ชลประทาน จากอดีต ถึง ปัจจุบัน
ก่อนอื่นจะขอกล่าวถึงคำว่า การชลประทาน ที่ท่านครูบาอาจารย์ในอดีตที่เคยสอนมาให้ทราบว่ามีความหมายถึง กิจการที่มนุษย์ดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อส่งน้ำไปให้แก่พืชการเกษตร(ปัจจุบันสถานะการเปลี่ยนแปลงไปมากภาระกิจเรื่องส่งน้ำให้พืช อย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ กิจกรรมการใช้น้ำต่างๆมีความเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ ภาระกิจของการส่งน้ำควรจะต้องอยู่ในรูปเอนกประสงค์หรือรูปแบบบูรณาการ การส่งน้ำให้พืชก็ต้องส่งให้ทันเวลาต่อความต้องการน้ำของพืช และจะต้องรวมไปถึงการระบายน้ำส่วนเกินออกนอกพื้นที่ก่อนพืชจะเสียหายด้วย)

เราแบ่งการชลประทาน ออกเป็น 2 ลักษณะตามสภาพการส่งลำเลียงน้ำ ได้ดังนี้
1. การชลประทานแบบ gravity โดยอาศัยแรงดึงดูดโลก ส่งน้ำจากที่สูงให้ไหลลงไปสู่ที่ต่ำ ซึ่งประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน นิยมดำเนินการแบบนี้ เพราะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไม่แพงมาก
2. การชลประทานแบบ pumping โดยอาศัยการสูบน้ำ ซึ่งสามารถส่งน้ำจากที่ต่ำไปสู่ที่สูงได้ ซึ่งบางครั้งก็มีความจำเป็นมาก เมื่อจุดใช้งานของน้ำอยู่สูงกว่าแหล่งผิวน้ำต้นทุน ซึ่งแน่นนอนว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอาจจะแพง เพราะเป็นสภาพที่ต้องฝืนธรรมชาติ โดยวิธีการส่งลำเลียงน้ำในลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะกระทำในระบบท่อ

การพัฒนาด้านการชลประทานของประเทศไทย
ประวัติการพัฒนาการชลประทานของไทยมีหลักฐาน ตั้งแต่ สมัยอาณาจักรลานนา ของพญามังราย เรื่อยมาจนถึง อาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาสมัยพระนารายณ์มหาราช และถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ปัจจุบัน โดยในส่วนนี้จะกล่าวเน้นเฉพาะที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาในปัจจุบัน เริ่มจากในสมัยรัชการที่ 5 ได้มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ มาวางโครงการพัฒนาระบบชลประทานในลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ แต่เนื่องจากต้องใช้งบประมาณมากเกินสถานะการเงินในขณะนั้น จึงแบ่งการพัฒนาออกเป็นแผนงานย่อย และทยอยดำเนินการเรื่อยมา เริ่มจากการขุดลอกคลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก คลองแสนแสบ และคลองพระขโนง ต่อมาเริ่มสร้างโครงการป่าสักใต้(เขื่อนพระราม 6)ที่ จ. อยุธยา พื้นที่ชลประทาน(พื้นที่ ชป.) 860,000 ไร่ และสร้างโครงการโพธิ์พระยา ที่ จ.สุพรรณบุรี โครงการนครนายก ที่ จ.นครนายก โครงการเชียงราก-คลองด่าน ที่ จ.ปทุมธานี โครงการป่าสักเหนือ ที่อยู่เหนือ จ.อยุธยา ขึ้นไป จากนั้นสร้างเขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท เพื่อทดระดับน้ำให้สูงขึ้น แล้วผันน้ำออกไปทางทุ่งฝั่งตะวันตก และทุ่งฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดเป็นโครงการชลประทานต่างๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในปัจจุบัน
ต่อมาเริ่มดำเนินการสร้างโครงการเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ปี 2500 เก็บน้ำได้ 13,462 ล้าน ลบ.ม.
และเริ่มดำเนินโครงการเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ปี 2506 เก็บน้ำได้ 9,510 ล้าน ลบ.ม.
อีกทั้งยังได้ขยายการพัฒนาเพิ่มดังนี้
โครงการแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เก็บน้ำได้ 710 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ ชป. 340,000 ไร่
โครงการกิ่วลม จ.ลำปาง เก็บน้ำได้ 110 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ ชป. 140,000 ไร่
โครงการแม่กลองใหญ่ จ.กาญจนบุรี (เป็นเขื่อนผันน้ำ) พื้นที่ ชป. 2,600,000 ไร่
โครงการลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เก็บน้ำได้ 1,430 ล้าน ลบ.ม.พื้นที่ ชป. 300,000 ไร่
โครงการลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา เก็บน้ำได้ 152 ล้าน ลบ.ม.พื้นที่ ชป. 70,000 ไร่
โครงการหนองหวาย จ.ขอนแก่น (เป็นฝายผันน้ำ) พื้นที่ ชป. 260,000 ไร่
โครงการน้ำอูน จ.สกลนคร เก็บน้ำได้ 520 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ ชป. 190,000 ไร่
โครงการโดมน้อยจ.อุลบราชธานี เก็บน้ำได้ 1,966 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ ชป. 183,044 ไร่
โครงการพิษณุโลก จ.พิษณุโลก (เป็นเขื่อนผันน้ำ) พื้นที่ ชป. 600,000 ไร่
ฯลฯ

การพัฒนาพื้นที่ชลประทานจากอดีตถึงปัจจุบันรวมทั้งหมด
แบ่งออกได้ดังนี้
- โครงการชลประทานขนาดใหญ่ คือโครงการที่มีพื้นที่ชลประทานมากกว่า 80,000 ไร่ ขึ้นไป หรือเป็นโครงการที่สามารถเก็บกักน้ำได้มากกว่า 100 ล้าน ลบ.ม.ขึ้นไป มีทั้งหมดมากกว่า 90 โครงการ มีพื้นที่รวมกันทั้งหมดมากกว่า 17 ล้านไร่
- โครงการชลประทานขนาดกลาง คือโครงการที่มีพื้นที่ชลประทานน้อยกว่า 80,000 ไร่ ลงไป หรือเป็นโครงการที่สามารถเก็บกักน้ำได้น้อยกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. มีทั้งหมดมากกว่า 750 โครงการ มีพื้นที่รวมกันทั้งหมดมากกว่า 7 ล้านไร่
- โครงการชลประทานขนาดเล็ก คือโครงการที่เก็บกักน้ำได้ไม่มาก มีแต่อาคารหัวงาน ไม่มีระบบส่งน้ำ มีพื้นที่ชลประทานน้อย ใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 1ปี เมื่อสร้างเสร็จแล้วส่งมอบให้จังหวัดดูแลใช้งานและซ่อมแซมบำรุงรักษาเอง มีทั้งหมดมากกว่า 9,800 โครงการ มีพื้นที่รวมกันทั้งหมดมากกว่า 9.5 ล้านไร่
ปัจจุบันมีพื้นที่ชลประทานรวมทั้งหมดมากกว่า 33.5 ล้านไร่ คิดเป็น 25.3 % ของพื้นที่การเกษตรของไทย

ศักยภาพและการใช้ประโยชน์พื้นที่ชลประทานแต่ละภาคในปัจจุบัน
แบ่งออกได้ดังนี้
- โครงการชลประทานขนาดใหญ่ทั้งหมด 85 แห่งที่กระจายอยู่ในภาคต่างๆ นั้น โดยเฉลี่ยแล้วมีพื้นที่มากกว่าโครงการละ 100,000 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพน้ำที่อุดมสมบูรณ์ดีมาก สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่การผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดขนาดใหญ่หรือตลาดเพื่อการส่งออกเชิงปริมาณ (Mass Production Unit) ที่ดีมาก เกษตรกรมีการเกาะกลุ่มรวมตัวกันดี มีการพัฒนาวัฒนะธรรมเรื่องการใช้น้ำที่มีศักยภาพและมีประสิทธิภาพ ภาครัฐสามารถเข้าไปส่งเสริมอาชีพการเกษตร และแนะนำเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตทางการเกษตรได้อย่างดีเยี่ยม
- โครงการชลประทานขนาดกลางทั้งหมด 745 แห่งที่กระจายอยู่ในภาคต่างๆ นั้น เป็นโครงการขนาดกลางที่มีพื้นที่เฉลี่ยประมาณ 9,000 ไร่ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพน้ำที่ปานกลาง (แต่บางแห่งก็อุดมสมบูรณ์ดีมาก) สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่การผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศหรือตลาดเพื่อการส่งออกเชิงคุณภาพ (Quality Production Unit) ที่ดีมาก เกษตรกรมีการเกาะกลุ่มรวมตัวกันดี มีการพัฒนาเรื่องการใช้น้ำที่มีศักยภาพและมีประสิทธิภาพ ภาครัฐสามารถเข้าไปส่งเสริมอาชีพการเกษตรและแนะนำเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตทางการเกษตรในเชิงคุณภาพได้อย่างดีเยี่ยม แต่ควรตรวจสอบความเพียงของปริมาณน้ำต้นทุนก่อนวางแผนการส่งเสริม
- โครงการชลประทานขนาดเล็กทั้งหมด 9,791 แห่งที่กระจายอยู่ในภาคต่างๆ นั้น เป็นโครงการ ที่สามารถพัฒนาให้เป็น แหล่งผลิตอาหารชุมชน (Local Food Banks) ได้ แต่ทั้งนี้อาจมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง เพราะเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำที่มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการใช้น้ำเพื่อ อุปโภค-บริโภค เป็นลำดับแรก

สำหรับตำแหน่งที่ตั้งและรายละเอียดของโครงการชลประทานต่างๆนั้น สามารถสอบถามได้โดยตรงจากโครงการชลประทานจังหวัด ซึ่งได้ตั้งสำนักงานกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ และโดยที่โครงการชลประทานบางแห่งมีอายุการใช้งานมากกว่า 50ปี หากเล็งผลเลิศในการพัฒนาเป็นพื้นที่ Production Unit ที่สมบูรณ์แบบ อาจมีความจำเป็นต้องมีการพิจารณาดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมระบบชลประทานบางจุดที่สภาพชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ให้มีสภาพดีขึ้น เหมือนที่ออกแบบไว้แต่เดิม หรือปรับปรุงให้เข้ากับสภาพการใช้ที่ดินใหม่ ก่อนดำเนินการพัฒนาการเกษตรฯต่อไป

แนวทางการพัฒนาทรัพยากรน้ำในอนาคต
เนื่องจากรัฐได้กำหนดแนวนโยบาย เรื่องการขจัดความยากจนให้หมดภายใน 6 ปี ไว้เป็นวาระแห่งชาติ โดยพยายามจะยกระดับรายได้ของประชากรให้มีรายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 120,000 บาทต่อครัวเรือน ดังนั้นเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพส่วนใหญ่ของประชากรชาวไทย จะต้องถูกยกระดับรายได้ไปด้วย โดยแนวทางปฏิบัติทางหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้คือ การกำหนดมาตรการการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ส่งออก ให้เป็น 1.20 ล้านล้านบาท ภายในปี 2551 เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น (มูลค่าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ส่งออกในปี 2547 อยู่ที่ 0.89 ล้านล้านบาท) ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือน้ำ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาระบบชลประทานเพื่อการเก็บกักน้ำและใช้งานให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพสูงกว่าปัจจุบันนี้ จึงจะมีน้ำพอเพียงสนับสนุนภาคการผลิตทางการเกษตรนี้ได้จากสภาพการกระจายตัวของน้ำฝนและน้ำท่าที่ไม่สม่ำเสมอตลอดปี ดังที่นำเสนอไว้ข้างต้นแล้วจะส่งผลให้เกิดปัญหาอุทกภัยและปัญหาการขาดแคลนน้ำ รุนแรงขึ้น ดังนั้นจะต้องมีการพัฒนาระบบชลประทานเพื่อการเก็บกักและใช้งานให้มีศักยภาพ และประสิทธิภาพสูงกว่าปัจจุบันนี้ ประกอบกับศักยภาพของน้ำท่าที่มีเหลือจากกักเก็บในระบบชลประทานปัจจุบัน ยังมีอีกมาก ดังนั้นควรจะต้องทำการพัฒนาเพื่อเพิ่มระบบการเก็บกักน้ำและใช้งานให้มากขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาภาคการผลิตทางการเกษตรให้ได้ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

แนวความคิดในการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตรในอนาคต
1.แนวความคิดในการเหลียวหลังกลับไปดูโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและโครงการชลประทานเก่าๆ ที่ก่อสร้างมานานแล้ว และมีสภาพชำรุดทรุดโทรมเสียหายมาก ควรจะต้องถูกนำมาใช้ เพื่อดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงโครงการนั้นๆ ให้มีประสิทธิภาพดีเหมือนเดิมที่ออกแบบไว้ จะทำให้ได้น้ำชลประทานที่รั่วซึมเสียหายไปกลับคืนมาใช้ในพื้นที่การเกษตรท้ายน้ำได้เพิ่มขึ้น แหล่งเก็บกักน้ำขนาดต่างๆที่ก่อสร้างมานานแล้วต้องนำมาศึกษาความคุ้มทุน ที่จะดำเนินการขุดลอกเอาดินตะกอนเหนือระดับเก็บกักที่สามารถนำไปใช้งานได้ออกไป เพื่อที่สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มเติมขึ้น มาตรการนี้หากวิเคราะห์ดำเนินการแล้วคุ้มทุน ควรจะต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน เพราะเป็นมาตรการที่ไม่สร้างปัญหาการเวนคืนที่ดินที่มีผลกระทบต่อการกระเพื่อมไหวของมวลชน

2.แนวความคิดในการให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วม ในการดูแลการส่งน้ำบำรุงรักษาซ่อมแซมระบบชลประทานนั้น ควรจะต้องมีการส่งเสริมให้ดำเนินการเพิ่มมากขึ้น เพื่อปลุกจิตสำนึกของตัวเกษตรกรเอง ให้ทราบว่าระบบชลประทานนั้นเป็นเครื่องมือในการทำการเกษตรของตัวเขาเอง(เหมือนจอบ เหมือนเสียมหรือเหมือนรถไถนาของเขาเอง) หากรักษาระบบชลประทานมีสภาพดี มีการใช้งานอย่างถูกต้อง และมีอายุการใช้งานยาวนาน ก็หมายถึงการมีน้ำชลประทานให้ทำการเกษตรได้เพียงพอขึ้น ผลผลิตที่ได้ก็มีสูงขึ้น รายได้จากเกษตรของเขาเองก็จะสูงขึ้นตามมาแบบยั่งยืน

3.แนวความคิดในการใช้น้ำใต้ดินเสริม ในกรณีที่ขาดแคลนน้ำชลประทานเป็นช่วงๆ หลังจากที่เริ่มทำการเกษตรไปแล้วควรมีการพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดิน ทั้งประเภทบ่อตื้น และบ่อบาดาลแบบลึก เพื่อนำน้ำใต้ดินมาใช้งานเสริม เป็นครั้งคราว เพื่อจะเป็นหลักประกันให้เกษตรกรมั่นใจว่าจะไม่เกิดความเสียหายต่อผลผลิตในการทำการเกษตรของเขา โดยแนวทางนี้ จะต้องศึกษาให้ชัดเจนถึงแหล่งน้ำใต้ดินนั้นๆ ว่ามีปริมาณน้ำที่สามารถจะนำมาใช้งานได้ เท่าไร ถึงจะไม่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ตามมา

4.แนวความคิดในการใช้น้ำภาคการเกษตรอย่างประหยัดและคุ้มค่ากับผลผลิตทางการเกษตรที่ได้ ในวิธีการต่างๆ ควรจะต้องถูกนำออกมาใช้อย่างจริงจังให้ได้ผลออกมาอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนก่อน แล้วจึงตามมาด้วยมาตรการพัฒนาสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดต่างๆ ต่อไป เหตุที่ต้องเร่งปลุกจิตสำนึกเรื่องนี้ก่อน เพราะหากปล่อยให้มีการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยและได้ผลตอบแทนทางผลผลิตไม่คุ้มค่าไปเรื่อยๆ แล้ว การจะเร่งสร้างแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วปานใด ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการน้ำอย่างฟุ่มเฟือยนี้ มาตรการการใช้น้ำอย่างประหยัดนี้ อาจต้องมีการพิจารณาหาเทคโนโลยีการส่งน้ำที่มีการสูญเสียน้ำชล-ประทานให้น้อยลงมาใช้งานบ้าง เช่น ระบบMicro-irrigation ระบบสปริงเกอร์ ระบบน้ำหยด ฯลฯ แน่นอนว่าระบบการส่งน้ำพวกนี้ต้องมีต้นทุนการดำเนินการที่แพงมาก แต่หากถ้าวิเคราะห์แล้วว่าให้ผลตอบแทนคุ้มทุน เฉพาะกับพืชพวก High-value crops ก็น่าจะพิจารณานำมาส่งเสริมให้มีการดำเนินการ (กลุ่มประเทศทางยุโรป ประเทศอิสราเอล หรือประเทศออสเตรเลียมีการพัฒนาเรื่องนี้ดีมาก น่าจะทดลองศึกษามาเป็นต้นแบบ)

5.แนวความคิดในการเร่งการก่อสร้างและพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำขนาดต่างๆ รวมทั้งโครงการชลประทานขนาดใหญ่ขนาดกลางและขนาดเล็ก ควรจะต้องนำพิจารณาศึกษาความเหมาะสม และเร่งดำเนินการอย่างมีระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการชดเชยค่าที่ดินในเขตการดำเนินการ จะต้องถูกนำมาพิจารณาจ่ายให้ผู้ได้รับผลกระทบอย่างยุติธรรม คุ้มค่าในราคาตลาดจริง และอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันปัญหาการขัดแย้งกับมวลชนซึ่งส่งผลให้การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำต่างๆมีอันจะต้องล่าช้าออกไป และในทำนองเดียวกันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดต่างๆ รวมทั้งโครงการชลประทานขนาดใหญ่ขนาดกลางและขนาดเล็กที่เริ่มดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ควรจะต้องเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนงาน หรือเสร็จก่อนแผนงานให้ได้ โดยไม่มีผลกระทบด้านลบตามมา สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการหากภาครัฐมีไม่เพียงพอ ก็ควรมีการพิจารณาเรื่องการกู้เงินจากภาคเอกชนหรือแหล่งเงินกู้จากนอกประเทศมาดำเนินการ เพราะหากปล่อยให้ระยะเวลาผ่านไปเนิ่นนาน เกรงว่าถึงเวลานั้นแล้วหากมีเงินงบประมาณ ก็ไม่อาจสามารถดำเนินการได้ เพราะจะมีผลกระทบกับมวลชนที่รุกล้ำพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่แหล่งน้ำอย่างมากมายทับทวี

6.แนวความคิดในการสนับสนุนการขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่สาธารณะ และการสนับสนุนให้เกษตรกรขุดสระเก็บสำรองน้ำในพื้นที่การเกษตรของตนเอง ควรจะต้องถูกนำมาทำการส่งเสริมให้มีการดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อเร่งรัดการสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทยมากขึ้น พื้นดินจะได้มีความชุ่มชื้นและมีความอุดมสมบรูณ์เพิ่มขึ้น โดยที่น้ำเป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตรเบื้องต้น หากมีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดย่อยในพื้นที่ของเกษตรกรเอง เกษตรกรก็สามารถอาศัยใช้แหล่งน้ำนั้นๆ ทำเป็นแหล่งผลิตอาหารในครัวเรือน(ตู้เย็นธรรมชาติ)ได้ และหากมีผลผลิตเหลือจากการบริโภคในครัวเรือนแล้ว อาจนำไปจำหน่ายเพื่อหารายได้เสริม ทำให้มีรายได้มาจุนเจือครัวเรือนได้เพิ่มขึ้น

7.แนวความคิดในการส่งน้ำแบบ pumping โดยปกติระบบการชลประทานในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็นการส่งน้ำแบบ gravity โดยอาศัยแรงดึงดูดโลก ส่งน้ำจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ เพราะประหยัดพลังงานในการส่งน้ำ และค่าใช้จ่ายในการส่งน้ำจะไม่แพง แต่หากมีความจำเป็นต้องส่งน้ำจากที่ต่ำไปสู่ที่สูง เพื่อสนับสนุนการเกษตรในที่พื้นสูงได้ ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการส่งน้ำแบบ pumping รวมกับระบบท่อ มาใช้เสริมในกรณีที่ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่สูงนั้นได้ ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นนั้นบ่งชื้ได้อย่างชัดเจนว่ามีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอที่สามารถจะดำเนินการได้ เพียงแต่จะต้องพิจารณาถึงลักษณะการผลิตและผลผลิตการเกษตรที่ได้นั้น จะต้องให้ผลตอบแทนคุ่มค่าต่อต้นทุนการลำเลียงน้ำโดยวิธีดังกล่าวไปใช้งานด้วย

8.แนวความคิดในการผันน้ำในแม่น้ำระหว่างประเทศมาใช้งานเพิ่มเติม ควรจะต้องมีการเร่งรัดการดำเนินการออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนและเป็นอย่างรูปธรรม โดยเรื่องที่ต้องเร่งรัดก่อนอื่นใดคือการเริ่มดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการที่จะผันน้ำในแม่น้ำระหว่างประเทศนั้นๆ มาใส่ในแม่น้ำสายหลักๆของประเทศ เพื่อนำมาใช้งานในช่วงการขาดแคลนน้ำ และเร่งจัดทำแผนปฏิบัติงานต่อไป เช่น โครงการผันน้ำในแม่น้ำสาละวิน เขตติดต่อพม่า โครงการผันน้ำในแม่น้ำงึม เขตติดต่อลาว โครงการผันน้ำในแม่น้ำเซบังเหียง และเซบังไฟ เขตติดต่อลาว โครงการผันน้ำในแม่น้ำสตึงนัม เขตติดต่อกัมพูชา และโครงการผันน้ำในแม่น้ำโขง ฯลฯ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมาก

9.แนวความคิดในการเคลื่อนย้ายมวลน้ำส่วนหนึ่ง ที่มีปริมาณมากเกินไปจากพื้นที่บริเวณหนึ่ง ไปใช้งานหรือไปเก็บกักไว้ในพื้นที่ที่ปริมาณน้ำน้อย จะเป็นแนวทางที่จะแก้ไขหรือชลอปัญหา เรื่องอุทกภัย และการขาดแคลน ที่เกิดจากการกระจายตัวของน้ำฝนและน้ำท่าที่ไม่สม่ำเสมอตลอดปี ได้ โดยแนวทางการดำเนินงานอาจจะใช้แหล่งเก็บน้ำเดิมที่มีอยู่เป็นหลัก พร้อมทั้งก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำใหม่ๆเพิ่มขึ้น จากนั้นจะก่อสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงแหล่งน้ำต่างๆเข้าด้วยกันให้เป็น Network แล้วท้ายสุดก็สร้างระบบแพร่กระจายน้ำ เพื่อส่งลำเลียงน้ำนั้นๆไปพักตัวอยู่ที่ ห้วย หนอง บึง แหล่งน้ำขนาดเล็กตามธรรมชาติ รวมทั้งสระเก็บน้ำประจำแปลงการเกษตรของเกษตรกรตามโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ฯ ที่จะส่งเสริมให้ขุดเพิ่มมากขึ้น จะทำให้มีปริมาณน้ำใช้ในฤดูแล้งเพิ่มขึ้น และแก้ไขปัญหาพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซากได้ มาตรการนี้จะต้องใช้ค่าลงทุนที่สูงมาก ดังนั้นจะต้องเร่งทำการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในแผนปฏิบัติงานรายโครงการย่อยแต่ละแห่งโดยด่วน พร้อมทั้งเร่งลงมือดำเนินงานในพื้นที่ที่เหมาะสม อย่างจริงจัง

บทสรุปในภาคท้าย จะขอชี้ให้เห็นว่า ในอดีตประเทศไทยมีประชากรไม่มาก(สมัยเมื่อ 40ปีที่แล้ว ท่องจำได้ว่าประเทศไทยมีพลเมือง 20 ล้านคน) การส่งออกด้านการเกษตรมีไม่มาก แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีพลเมืองถึง 63ล้านคน การส่งออกภาคการเกษตรมีเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำเงินตราไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง(ซึ่งมีราคาทวีแพงขึ้นอย่างโหดร้ายทารุณ) ซื้อยานพาหนะฯ อุปกรณ์สื่อสารโทรคม-นาคม อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ต่างชาติเป็นผู้ผลิต และโดยที่ภาคการผลิตทางด้านการเกษตรมีความต้องการใช้น้ำมาก ฝนเป็นแหล่งน้ำหลักของประเทศ แต่ปัญหาก็คือจะมีน้ำฝนมากมายเหลือเฟือในช่วงหกเดือนของฤดูฝนเท่านั้น ในฤดูแล้งที่เหลืออีกหกเดือนมีให้ใช้น้อยมาก แนวทางที่พึงปฏิบัติคือพยายามใช้น้ำในฤดูแล้งให้ได้อย่างประหยัด พร้อมทั้งเร่งพัฒนาก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ ในช่วงที่เกิดมีน้ำมากอย่างเหลือเฟือไว้ เพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้ในฤดูแล้งพร้อมทั้งบรรเทาปัญหาอุทกภัย และด้านท้ายน้ำต้องพึงระวังเฝ้าสังเกตุการณ์เรื่องคุณภาพน้ำที่ผ่านการใช้งาน มาแล้วอย่างหนัก จากแหล่งต้นน้ำด้วย หากมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อการใช้งาน ก็ควรต้องมีขบวนการแก้ไขมาบำบัดคุณภาพน้ำ นั้นๆให้ดีขึ้น เหมาะสมที่จะน้ำไปใช้งานได้ต่อไป

สวัสดีครับ