๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๐

การวางแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ

การวางแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ

โดย นายวิชัย สุภาโสด วิศวกรชลประทาน 8 วช.
สำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน

สวัสดีครับท่านผู้อ่านวารสารข่าวเกษตรชลประทาน พบกันอีกครั้งในฉบับเดือนกันยายน 2550 ซึ่งเป็นฉบับส่งท้ายปีงบประมาณ 2550 เป็นเวลาหนึ่งขวบปีแล้วซินะครับที่เราไม่ได้พบกัน ผมรู้สึกว่าเราดูห่างเหินเดินห่างหูกันไปนานมาก เนื่องจากผมติดภารกิจหลักไม่มีเวลาสืบค้นหาข้อมูลมาเขียนเพื่อนำเสนอท่านได้ ประกอบกับพรรคพวกพี่น้องและเพื่อนฝูงต่างๆของผมก็มิได้ติดต่อสอบถามข้อมูลมา (ซึ่งเหตุผลที่ผมคิดไปเองว่า อาจจะเป็นเพราะพรรคพวกพี่น้องเหล่านี้ต้องแฝงกายและเก็บเนื้อเก็บตัวให้สงบเงียบไว้ ตามสภาพการที่อึมครึมและสนธยาของประเทศในช่วงนี้ หรืออาจจะเป็นเพราะผมฝีมือตกเมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก ก็เป็นได้) แต่แล้วในช่วงเดือนส่งท้ายปีงบประมาณ 2550 นี้เอง เพื่อนฝูงของผมคนหนึ่งซึ่งไปรับหน้าที่ชลประทานจังหวัดมาได้สักระยะแล้ว ได้ส่งเมล์ มาเล่าให้ฟังว่ามีความจำเป็นจะต้องไปร่วมทำแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ๆ กับหน่วยงานของจังหวัด จึงขอสอบถามความหมายของคำทางวิชาการบางคำ เช่น Desk Study , Reconnaissance Study , Preliminary Study , Prefeasibility Study ฯลฯ พร้อมทั้งขอให้ผมช่วยทบทวนความรู้ทางวิชาการด้านการวางแผนโครงการ (Project Planning) เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ และช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ด้วยให้ด้วย เพราะไม่ค่อยรู้จักใคร และเชื่อใจผม (ว่าเข้านั่น !!.. ) ผมอ่านเมล์นี้แล้ว นึกสลดหดหู่ๆไปกับความคิดของเพื่อนผมคนนี้มาก ว่าเขาคิดอย่างไรหนอที่ตัดสินใจที่เลือกผมเป็นพี่เลี้ยงเรื่องงานวิชาการให้ (หรือว่าเจ้าเพื่อนผมคนนี้ มันโลกแคบจริงๆ) เอาละเมื่อเขาฝากความหวังไว้ที่ผมแล้ว (โดยไม่รู้ความจริง) ผมก็จะพยายามช่วยเขาอย่างเต็มที เอ้ยเต็มที่ตามที่เขาหวังเอาไว้ (หวังลมๆแล้งๆ)
และเพื่อไม่ให้เขาผิดหวัง ผมจึงเริ่มดำเนินการค้นคว้าหาตำรับตำราและเอกสารทาง
วิชาการ จากเพื่อนๆที่เป็นนักวิชาการด้านนี้ ทำให้ได้ข้อมูลเรื่องการวางแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ มาพอสมควร เลยมีความคิดต่อไปว่า ไหนๆก็ได้ข้อมูลมาแล้ว หากสามารถเอาข้อมูลที่ได้นี้มานำเสนอต่อไป ก็อาจจะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านวารสารข่าวเกษตรชล-ประทานบางท่านได้ (สำหรับท่านที่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้ดีแล้ว ก็ต้องกราบขออภัยที่ไม่เจียมตัว ดันเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน) สำหรับแนวทางการนำเสนอเรื่องการวางแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ นั้น เนื่องจากมีข้อมูลเยอะมาก จึงขอแบ่งการนำเสนอออกเป็นส่วนๆ ดังนี้ คือ

การพัฒนาแหล่งน้ำ ( Water Resources Development) โดยทั่วไปแล้วการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ นั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
1. การวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำ (Basin Planning ) การวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการพัฒนาแหล่งน้ำในภาพรวม ได้แก่ การกำหนดปัญหา การกำหนดเป้าหมาย และการกำหนดมาตรการในการแก้ปัญหา โดยจะแบ่งระดับของการศึกษาออกเป็น 3 ระดับ คือ
1.1 การศึกษาการพัฒนาลุ่มน้ำเบื้องต้น (Desk Study)
1.2 การศึกษาแนวทางการพัฒนาลุ่มน้ำ ( Preliminary Study)
1.3 การศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำ (Comperhensive Study)
2. การวางแผนพัฒนาโครงการ ( Project Planning ) การวางแผนพัฒนาโครงการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ของโครงการทั้งทางด้านวิศวกรรม และความคุ้มค่าในการลงทุนตลอดจนผลกระทบสิ่งแวดล้อม และขีดความสามารถในการแก้ปัญหาของโครงการ โดยแบ่งระดับของการศึกษาออกเป็น 3 ระดับ คือ
2.1 การศึกษาโครงการเบื้องต้น (Reconnaissance Study)
2.2 การศึกษาวางโครงการ (Prefeasibility Study)
2.3 การศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study)

และเพื่อความเข้าใจร่วมกันในช่วงเวลาต่อไป ก็จะขอนำเสนอความหมายของการศึกษางานวางแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ให้ทราบพอสังเขป ดังนี้

การศึกษาพัฒนาลุ่มน้ำเบื้องต้น (Desk Study) การศึกษานี้เป็นการพิจารณาขั้นต้น เพื่อตอบสนองแผนการพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการ และแผนการใช้ที่ดิน โดยจะพิจารณาชี้ประเด็นปัญหาของพื้นที่ พิจารณากิจกรรมที่เป็นความต้องการน้ำ การตรวจสอบขั้นต้นของศักยภาพแหล่งน้ำพิจารณาสร้างทางเลือกในการแก้/บรรเทาปัญหาให้ครบถ้วน รวมทั้งการคัดทางเลือกที่ไม่เหมาะสมออก ทางเลือกที่ถูกคัดออกในขั้นตอนนี้มักจะเป็นทางเลือกที่เห็นได้โดยง่ายว่าไม่เหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องมีการคำนวณมากนัก มาสนับสนุน ผลที่ได้จากการศึกษา Desk Study นี้จะนำไปสู่การศึกษาลุ่มน้ำในระดับ Preliminary Study หรือการศึกษาโครงการในระดับ Reconnaissance Study ต่อไป นอกจากนี้โครงการต่างๆ ที่ได้รับการร้องขอจากการภาคประชาชน ก็ควรได้รับการตรวจสอบความเป็นไปได้ และผลกระทบ ในภาพรวมพร้อมกันไปด้วยในการศึกษาในขั้นนี้ เช่นเดียวกัน
การศึกษาโครงการเบื้องต้น ( Recconnaissance Study) การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาตรวจสอบความเป็นไปได้เบื้องต้นทางวิศวกรรมของโครงการ ที่ได้จากการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำในขั้น ( Desk Study) หากโครงการมีความเป็นไปได้ ก็จะใช้ผลจากการศึกษานี้ในการกำหนดขอบเขตของการสำรวจด้านต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำในระดับ Preliminary Study หรือ การศึกษาแผนพัฒนาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในระดับ Pre-feasibility Study ต่อไป
การศึกษาแนวทางพัฒนาลุ่มน้ำ ( Preliminary Study) เป็นการวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำที่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นจากการศึกษาในระดับ Desk Study โดยมีผลการสำรวจที่ได้รับจากการศึกษา Reconnaissance Study เพิ่มเติม ส่งผลให้การตรวจสอบและคัดเลือกโครงการสามารถทำได้ละเอียดขึ้น ในขั้นตอนนี้สมควรต้องมีการดำเนินการในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย และควรต้องเน้นเรื่องการดำเนินการเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจโครงการ มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ รวมทั้งพร้อมที่จะชี้แจงโครงการ หากการมีส่วนร่วมของประชาชนในขั้นตอนนี้ประสบความสำเร็จ จะมีผลทำให้การดำเนินการในขั้นตอนต่อไปราบรื่น ผลที่ได้จากการศึกษาในขั้นตอนนี้ จะนำไปสู่การ
ศึกษาในระดับ Comprehensive Study หรือ Pre-feasibility Study ต่อไป
การศึกษาวางโครงการ (Pre - feasibility Study) เป็นการศึกษาวางแผนพัฒนาโครงการ โดยมีรายละเอียดในการศึกษาเพิ่มขึ้นจากการศึกษาในระดับ Reconnaissance Study การศึกษาในขั้นตอนนี้จะเน้นรายละเอียดทางวิศวกรรม และการวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการทางด้านเศรษฐศาสตร์ ผลที่ได้จากการศึกษาในขั้นนี้สามารถนำไปใช้ดำเนินการต่อได้ใน 3 ลักษณะ คือ
ลักษณะที่ 1 หากเป็นโครงการขนาดกลางสามารถดำเนินการต่อในขั้นตอนออกแบบรายละเอียดและก่อสร้างได้เลย
ลักษณะที่ 2 หากเป็นโครงการขนาดใหญ่ให้ดำเนินการศึกษาในระดับ Feasibility Study แล้วจึงจะดำเนินการออกแบบรายละเอียด และก่อสร้าง
ลักษณะที่ 3 ใช้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำ (Comprehensive Study) ได้ โดยในกรณีนี้ได้ดำเนินการศึกษาแผนพัฒนาโครงการ ก่อนดำเนินการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำ
การศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำ ( Comprehensive Study) เป็นการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำเต็มรูปแบบอย่างบูรณาการ โดยมีความต้องการน้ำที่ชัดเจนทั้งในเชิงปริมาณ สถานที่ และเวลา รวมทั้ง มีเป้าหมายการบรรเทาอุทกภัยที่ชัดเจน ผลที่ได้จากการศึกษา คือแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งสามารถตอบสนองต่อความต้องการได้ ตลอดจนแผนการบริหารจัดการแหล่งน้ำ และการมีส่วนร่วมของประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลจากการศึกษาจะนำไปสู่การศึกษาจะนำไปสู่การศึกษาโครงการในระดับ Feasibility Study และอีกทางหนึ่งอาจจะนำไปสู่การปรับปรุงแผนพัฒนาทางด้านอื่นๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับในกรณีที่มีการศึกษาลุ่มน้ำในระดับ Comprehensive Study มาแล้ว หากระยะเวลาได้ผ่านไปเป็นเวลานาน ทำให้สถานการณ์ต่างๆได้เปลี่ยนแปลงไป ในกรณีนี้ควรมีการศึกษาเพื่อทบทวน Comprehensive Study เป็นระยะตามเวลาที่เหมาะสม ผลจากการศึกษานี้จะนำไปสู่การศึกษาโครงการในระดับ Feasibility Study และทบทวนแผนพัฒนาด้านอื่นๆ เช่นเดียวกันกับการศึกษาลุ่มน้ำในระดับ Comprehensive Study
การศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study ) เป็นการศึกษาเพื่อวางแผนพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ-สังคม ด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ ผลจากการศึกษานี้ หากโครงการมีความเหมาะสมจะนำไปสู่การออกแบบรายละเอียด และก่อสร้างโครงการต่อไป สำหรับในกรณีที่มีการศึกษา Feasibility Study อยู่แล้วแต่ได้รับข้อมูลทีสำคัญเพิ่มเติม หรือเมื่อระยะเวลาผ่านไปเป็นเวลานานแล้วโครงการยังไม่ได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป หากต้องนำมาพิจารณาตัดสินใจในการดำเนินการโครงการ ใหม่ควรมีการปรับปรุงข้อมูล และการศึกษาให้ทันสมัยขึ้น ก่อนจะดำเนินการโครงการในขั้นตอนต่อไป
การศึกษาเพื่อการติดตามประเมินผล (Project Monitoring Study) เป็นการศึกษาเพื่อติดตามประเมินผลโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแต่ละโครงการ ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างและนำมาใช้งานส่งน้ำให้ประชาชนแล้ว ว่าสามารถดำเนินการใช้งานได้บรรลุผลตามวัตถุ-ประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ โดยทำการรวบรวมข้อมูลสนเทศทั้งที่เป็นข้อมูลปฐมภูมิ และข้อมูลทุติยภูมินำมาประมูลผล วิเคราะห์ข้อมูลทั้งในเชิงปริมาณปริมาณและคุณภาพ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ-สังคม วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม และจัดทำรายงานการศึกษาประเมินผล พร้อมข้อเสนอแนะ ผลจากการศึกษานี้สามารถประเมินความสำเร็จของโครงการได้ หรือเมื่อประเมินแล้วได้ผลว่าโครงการเกิดปัญหาไม่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ อาจนำผลการประเมินไปสู่การปรับปรุงงานโครงการได้ในกรณีเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่มาก หรือการศึกษาความเหมาะสมเพื่อการปรับปรุงโครงการ หรือการปรับแผนการพัฒนาลุ่มน้ำ ต่อไป เมื่อองค์ประกอบของโครงการที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก
อย่างไรก็ตามการศึกษาทั้ง 7 ประเภทนี้ ไม่สามารถแยกเป็นอิสระจากกันได้ แต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันและมีระดับในการศึกษา

เราจะพบว่าโครงการใหม่สามารถเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ คือ แบบ Top-Down และแบบ Bottom-Up
แบบ Top-Down เป็นการกำหนดจากแผนพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการ ประกอบกับแผนการใช้ที่ดินในอนาคต เพื่อนำมาพิจาณาในการคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำในอนาคต ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของรัฐ ที่จะพัฒนาแหล่งน้ำไปรองรับความเจริญของประเทศชาติ การวางแผนลักษณะนี้ ควรเริ่มดำเนินการศึกษาที่แผนพัฒนาลุ่มน้ำ ในระดับ Desk Study หรือ Preliminary Study หรือ Comprehensive Study ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณและความพร้อมในการดำเนินการศึกษา
โครงการใหม่ที่เกิดขึ้นจากอีกลักษณะหนึ่ง คือ แบบ Bottom-Up ซึ่งจะเกิดจากการร้องขอของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากปัญหาทางด้านแหล่งน้ำ โครงการใหม่ในลักษณะนี้ มักจะเริ่มด้วยการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำ ในระดับการศึกษาการพัฒนาลุ่มน้ำเบื้องต้น ( Desk Study )
การสิ้นสุดของงานศึกษาวางแผน คือ การนำผลจากการศึกษาไปดำเนินการในขั้นตอนต่อไป นั่นคือการออกแบบรายละเอียด การก่อสร้าง และนำไปใช้ หลังจากที่ได้ใช้งานโครงการไปแล้วระยะเวลาหนึ่งแล้วควรมีการติดตามและประเมินผลโครงการ ผลจากการประเมินผลนี้อาจนำไปสู่การปรับปรุงการจัดการโครงการในกรณีมีผลกระทบไม่มาก หรืออาจนำไปสู่การศึกษาความเหมาะสมเพื่อปรับปรุงโครงการ หรือการศึกษาทบทวนแผนพัฒนาลุ่มน้ำ (Revised Basin Study) ในกรณีที่มีผลกระทบต่อวัตถุประสงค์การใช้งานอย่างมาก
สำหรับโครงการที่ได้มีการศึกษาความเหมาะสมไว้แล้ว แต่ยังมิได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งอาจจำเป็นต้องการศึกษาทบทวนโครงการ (Revised Feasibility Study) อีกครั้งก่อนที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป