๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐

ข้อแตกต่างระหว่างผู้แพ้กับผู้ชนะ

ปรัชญาความรู้ข้างถุงกล้วยแขก
ตอนข้อแตกต่างระหว่างผู้แพ้กับผู้ชนะ

โดย นายวิชัย สุภาโสด


ท่านผู้อ่านครับ ผมขอแนะนำตัวเองเพื่อใช้เป็น Background ประกอบการเล่าเรื่องนี้ซักนิดว่า นอกจากงานประจำในการรับราชการแล้ว อีกด้านหนึ่งผมก็เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาด้านชลศาสตร์ ที่โรงเรียนนายเรืออากาศ(ดอนเมือง) โดยสอนทั้งในภาคพื้นฐานกับชั้นปีที่ 3 และภาคประยุกต์ใช้งานไปจนถึงชั้นปีที่ 5 ด้วย และเมื่อต้นเดือนนี้ผมได้ตรวจข้อสอบกลางภาคเรียนของนักศึกษาชั้นปีที่ 5 เสร็จไป ผลปรากฎว่ามีนักศึกษาคนหนึ่งซึ่งเคยทำคะแนนได้เป็นลำดับที่หนึ่งทุกครั้งที่มีการสอบในวิชาของผมมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการสอบครั้งใหญ่ ครั้งย่อยทุกครั้งใดๆ มาตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 เรื่อยมา แต่ในครั้งนี้ลำดับคะแนนเขาตกลงไปมาก ไม่ได้เป็นลำดับที่หนึ่งเหมือนทุกครั้ง ดังนั้นในช่วงท้ายชั่วโมงของการเข้าห้องเรียนครั้งที่ผ่านมา ผมจึงได้สอบถามเหตุผลเขาไปว่า “ ทำไมเธอจึงทำคะแนนครั้งนี้ได้น้อย ทุกครั้งเธอเคยชนะเป็นที่หนึ่งตลอดมาไม่ใช่หรือ “ และคำตอบที่ผมได้รับคือ “ ท่านอาจารย์ครับตอนนี้ผมเปลี่ยนแนวทัศนคติและปรัชญาใหม่แล้วครับ ผมถือว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร “ ครับ ผมในฐานะที่เป็นอาจารย์น่ะ อึ้งไปกับคำตอบที่ได้รับนี้เลยครับ แต่ผมก็ขอให้เขาช่วยอธิบายถึงเหตุผลว่า ทำไมเขาจึงเปลี่ยนทัศนคติและปรัชญาใหม่มาเป็นแบบนี้ได้ และขณะเขากำลังพยายามจะตอบคำถามผมนั้น สัญญาณหมดชั่วโมงเรียนก็ดังขึ้น และนักศึกษาต้องย้ายห้องเรียนไปเรียนห้องอื่น ผมจึงบอกเขาไปว่าครั้งหน้าช่วยมาเล่าเหตุผลให้ฟังต่อด้วย จากนั้นผมก็เดินทางกลับมาทำงานต่อที่กรมชลประทาน(สามเสน) ด้วยรถของกองทัพอากาศที่มีทหารชั้นประทวนขับให้ เนื่องจากผมไม่ต้องขับรถเอง ดังนั้นระหว่างทางผมจึงได้มีเวลาครุ่นคิด ถึงทัศนคติและปรัชญาที่ว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร ซึ่งนักศึกษาผู้นั้นได้พยายามตอบให้ฟัง โดยคิดว่าทัศนคติและปรัชญาแบบนี้มันเป็นความจริงหรือ ? และหากคนทุกคนมีทัศนคติกันแบบนี้หมดผลมันจะเป็นอย่างไร แพ้เป็นพระ พระที่กล่าวถึงนั้น เป็นพระสงฆ์ หรือไม่ ? และถ้าเป็นพระสงฆ์หากพระสงฆ์ทุกองค์ท่านมีทัศคติแบบนี้ การบำเพ็ญเพียรทางธรรมเพื่อเอาชนะความโลภ โกรธ หลง ต่างๆ เพื่อหาทางให้หลุดพ้นจากบ่วงกรรม จะเป็นไปได้หรือไม่ ? และหากเมื่อพระสงฆ์ท่านบำเพ็ญเพียรทางธรรมจนสามารถชนะความโลภ โกรธ หลง ต่างๆ แล้ว ท่านจะกลายเป็นมารหรือเปล่า ? พอดีรถยนต์ที่ผมนั่งมานั้นเกิดเบรคกระทันหัน เพราะมีคนจะข้ามทางมาลาย จึงทำให้ผมสามารถหยุดฟุ้งซ่าน และดึงความคิดที่ได้เตลิดเปิดเปิงไปไกลนั้นกลับมาเข้าที่ได้ และพยายามไม่คิดเรื่องนี้อีกต่อไป เดี๋ยว นรกจะกินหัวกระ….. ตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่เคยพูดไว้

เนื่องจากผมยังไม่ได้ทานอาหารกลางวันเลย และขณะนั้นก็ใกล้เวลาบ่ายโมงซึ่งจะต้องรีบเข้าทำงานที่กรมชลประทานแล้ว ผมจึงได้ขอให้คนขับช่วยแวะจอดรถกลางทางซื้อกล้วยแขกทอด และน้ำชาเขียวที่กำลังนิยมกัน เพื่อนำกลับไปทานเป็นอาหารกลางวันที่ห้องทำงาน เมื่อรถยนต์ของกองทัพอากาศมาส่งผมที่กรมชลประทาน(สามเสน)แล้ว ผมก็ได้ลงมือเคลียงานต่างๆที่กองอยู่บนโต๊ะได้เสร็จในเวลาสามโมงเย็น และนึกได้ว่ายังไม่ทานอาหารกลางวันเลย จึงได้หยิบถุงกล้วยแขกทอด และน้ำชาเขียว เพื่อมาสำเร็จโทษเสียให้หายหิว หลังจากที่อิ่มแล้ว และด้วยการว่างงานชั่วคราวเพราะไม่มีอะไรจะทำ จึงหยิบถุงกล้วยแขกที่ทำด้วยหนังสือพิมพ์แต่ไม่รู้ว่าเป็นหนังสือพิมพ์ชื่ออะไร เพราะมันเป็นกระดาษเพียงครึ่งแผ่นเท่านั้น มาอ่านฆ่าเวลา(ซึ่งไม่รู้ว่าจะฆ่ามันไปทำอะไร เพราะมันไม่เคยสร้างความผิดหรือความขุ่นข้องหมองใจให้แก่ผมซักหน่อย) และแล้วสายตาและสมองผมก็ต้องบรรเจิดจ้าขึ้น กับข้อความข้างถุงกล้วยแขกนั้น เพราะมันคือสิ่งที่สามารถจะตอบปัญหาที่สับสนของผมเมื่อตอนเที่ยงนี้ได้ทั้งหมด โดยข้อความปรัชญาข้างถุงกล้วยแขกทั้งหมด ที่มีดังนี้
บางครั้งการยอมรับความผิดพลาดก็ช่วยทำให้เราได้รู้จักตัวเองได้ดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการได้เรียนรู้ชีวิตจากรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ จากข้อแตกต่างระหว่างผู้ชนะและผู้แพ้ ดังเช่น :

ผู้ชนะ - เมื่อพบว่ามีข้อผิดพลาดจะกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาและลงมือแก้ไขปัญหานั่น
ผู้แพ้ - เมื่อพบว่ามีข้อผิดพลาดเขาจะทำในทางตรงข้าม คือหลีกเลี่ยงปัญหา

ผู้ชนะ - จะยอมรับนับถือคนที่มีความสามารถเหนือกว่า
ผู้แพ้ – จะทำในทางตรงข้ามและจะพยายามหาข้อผิดพลาดของคนที่เหนือกว่าเหล่านั้นในเชิงการดูถูก ดูแคลน

ผู้ชนะ - จะพูดว่าฉันทำได้ดีแล้ว แต่ยังไม่ดีเท่ากับที่ฉันต้องการ
ผู้ แพ้ - จะพูดว่ายังมีคนอื่นอีกหลายคนที่มีผลงานแย่กว่าตัวเขา

ผู้ชนะ - เมื่อพบว่ามีข้อผิดพลาดจะพูดว่าฉันพูดผิดเอง
ผู้แพ้ - เมื่อพบว่ามีข้อผิดพลาดจะพูดว่าไม่ใช่ความผิดของฉัน

ผู้ชนะ - จะทำงานหนักกว่าปกติ และมีเวลามากกว่าผู้แพ้
ผู้แพ้ - จะทำงานแบบยุ่งทั้งวัน โดยที่ไม่คิดว่างานไหนควรทำก่อนทำหลัง

ผู้ชนะ - จะลงมือทำงานให้ปรากฏผลงานขึ้น
ผู้แพ้ - จะให้แต่คำสัญญา คือมีแต่ลมปาก แต่ไม่ลงมือ

ผู้ชนะ - จะตั้งใจฟังแล้วทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผู้อื่นพูด และสามารถตอบสนองได้
ผู้แพ้ - จะรออย่างเดียวโดยไม่ฟัง ไม่ทำความเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูด รอจนกว่าถึงคิวที่จะได้พูดเรื่องของ ตัวเอง

ผู้ชนะ - จะมีความรับผิดชอบไม่เพียงแต่งานที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น เมื่อมีเวลาเหลือก็จะลงมือช่วย เหลือคนอื่นด้วย
ผู้แพ้ - จะไม่กล้าที่จะช่วยเหลือคนอื่น และมักจะพูดว่าฉันไม่ว่าง กำลังทำงานอยู่ กรุณาอย่ามายุ่ง

ผู้ชนะ - ต้องมีวิธีที่จะทำให้ดีขึ้นได้เสมอ
ผู้แพ้ - จะพูดว่านี่คือหนทางเดียวที่ทำได้

ผู้ชนะ - จะแบ่งปันความรู้ที่มีไปยังเพื่อนๆของเขาได้ทราบ และบางครั้งเขาก็ยังได้รับทราบการพัฒนา ความรู้เรื่องนั้นๆ คืนกลับมาด้วย ทำให้มั่นใจในองค์ความรู้ และทักษะในการใช้ความรู้นั้นๆ เพิ่มด้วย
ผู้แพ้ - จะเก็บความรู้ที่มีอยู่ไว้ โดยไม่แบ่งปันให้ใคร เพราะว่าเขาจะไม่ต้องการให้มีคู่แข่งขึ้นมาดังนั้นเขาจึงไม่มีโอกาสที่จะรับรู้ได้เลยว่าความรู้นั้น มีความถูกต้องหมดหรือไม่เพียงใด

หลังจากผมได้อ่านข้อความบนถุงกล้วยแขกจบแล้วผมก็มีความเข้าในความแตกต่างระหว่างผู้แพ้และผู้ชนะได้เพิ่มมากขึ้น และเมื่อผมไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมใน Internet จาก Website แห่งหนึ่งซึ่งแนะนำให้รู้จักหนังสือเล่มหนึ่ง เรื่อง The Winner and The Lose โดยผู้เขียนเขาได้ให้ปรัชญาที่น่าฟังเกี่ยวกับผู้แพ้และผู้ชนะว่า “ ผู้ชนะนี่จะมองเห็นว่าเรื่องทุกเรื่องที่เขาจะทำนั้นมีหนทางของการแก้ไขปัญหาไปซะทั้งหมด แต่สำหรับผู้แพ้นั้นจะมองเห็นว่าเรื่องทุกเรื่องที่เขาจะทำนั้นดูเหมือนมีแต่ปัญหาไปทั้งหมด “ และถ้าจะต้องให้ผมเลือกว่าจะอยู่ข้างแพ้หรือข้างชนะละก็ ผมต้องคงขอเลือกอยู่ข้างชนะแน่ๆ เพราะเคยมีคนบอกไว้ว่า ชัยชนะนี่มันมีรสชาติอันหอมหวานน่าชวนสัมผัส และอีกอย่าง ก็คือผมชื่อ “ วิชัย “ ซึ่งมีความหมายว่า ชัยชนะนั้นเป็นสิ่งที่ดี (นั้น..ว่าเข้านั่น ไม่อายปากบ้างเลย น๊ะ..)

และสำหรับเจ้าลูกศิษย์คนโปรด(โปรดไปให้ไกลๆ…)ของผมนั้น เมื่อพบกันคราวหน้าในห้องเรียน ผมก็จะขอให้เขาอธิบายเหตุผลในการเปลี่ยนแนวทัศนคติและปรัชญาใหม่ให้ทราบ ซึ่งหากมีแนวความคิดและเหตุผลดีก็รอดตัวไป แต่หากมีแนวความคิดและเหตุผลที่ไม่ได้เรื่อง ผมก็จะส่งถุงกล้วยแขกที่ผมได้เก็บเอาไว้นี้ ให้เพื่อเอาไปใช้เป็นตำราประกอบการศึกษาเรื่องทัศนคติและปรัชญา ต่อไป

สวัสดีครับ……...

ไม่มีความคิดเห็น: