๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐

เกษตรอินทรีย์ในมุมมองของข้าพเจ้า

เกษตรอินทรีย์ในมุมมองของข้าพเจ้า
โดย นายวิชัย สุภาโสด วิศวกรชลประทาน 8 วช.
สำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน

ครั้งหนึ่งกรมชลประทานได้ให้ข้าราชการที่สมัครรับการคัดเลือกเข้าสู่ระดับ 7 นำเสนอเอกสารแสดงวิสัยทัศน์ เรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกด้วย ครั้งนั้นข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าไปร่วมพิจารณาเอกสารดังกล่าวด้วย ในฐานะคณะทำงานฯ และจากการอ่านเอกสารดังกล่าวที่ผู้สมัครจำนวนมากนำเสนอให้พิจารณา ได้สังเกตุเห็นว่ามีข้าราชการจำนวนไม่น้อย พยายามนำเสนอแนวทางส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ มาใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านเอกสาร ทำให้แต่ละบุคคลไม่สามารถนำเสนอรายละเอียดได้มากนัก จึงทำให้เกิดมีข้อสงสัยในใจว่า แล้วจริงๆคำว่าเกษตรอินทรีย์คืออะไรแน่ มีแนวทางปฏิบัติอย่างไร และจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้จริงหรือไม่ ซึ่งข้อสงสัยนี้ยังค้างคาใจข้าพเจ้าอยู่เรื่อยมา และโดยเท็จจริงแล้วข้าพเจ้านั้นมีพื้นความรู้ด้านทรัพยากรน้ำและการชลประทานเป็นหลัก ส่วนความรู้ด้านการเกษตรแล้วมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นจึงได้ออกค้นคว้าหาตำรับตำราและเอกสารทางวิชาการ จากเพื่อนๆที่เป็นอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และเพื่อนๆข้าราชการจากกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ที่รู้จักกันสมัยร่วมทำงานเรื่องปรับโครงสร้างภาคการเกษตรที่กระทรวงเกษตรฯด้วยกัน ทำให้ได้ข้อมูลเรื่องเกษตรอินทรีย์มาพอสมควร เลยมีความคิดต่อไปว่า ไหนๆก็ได้ข้อมูลมาแล้ว หากสามารถเอาข้อมูลที่ได้นี้มานำเสนอต่อไป ก็อาจจะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้เข้ามาเยี่ยมชม web log นี้ บางท่านได้ (สำหรับท่านที่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้ดีแล้วก็ต้องกราบขออภัยที่ไม่เจียมตัว ดันเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน) โดยแนวทางการนำเสนอเรื่องเกษตรอินทรีย์ นั้น จะขอแบ่งการนำเสนอออกเป็นส่วนๆ ได้ ดังนี้

นโยบายของรัฐ ในเรื่องเกษตรอินทรีย์
นโยบายของรัฐ ในเรื่องเกษตรอินทรีย์นั้น เน้นว่าจะส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ทั้งส่งเสริมและจดทะเบียนสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการผลิตทางการเกษตรในทุกด้าน เพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้า และการเกษตรในอนาคต ซึ่งจะสามารถใช้เป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพของเกษตรกร ได้ทางหนึ่ง

เกษตรอินทรีย์คืออะไร
เกษตรอินทรีย์ คือการทำการเกษตรด้วยหลักธรรมชาติ บนพื้นที่การเกษตรที่ไม่มีสารพิษตกค้าง และหลีกเลี่ยงจากการปนเปื้อนของสารเคมีทางดิน ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศน์ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนสู่สภาพสมดุลธรรมชาติ และยังเป็นการทำการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์หรือใช้สิ่งที่ได้มาจากการตัดต่อพันธุกรรม เป็นการทำการเกษตรโดยใช้ปัจจัยการผลิตที่มีแผนการจัดการอย่างเป็นระบบ ภายใต้มาตรฐานการผลิตที่แน่นอน

สาเหตุที่ต้องให้ความสนใจเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
เนื่องจากมีการใช้ทรัพยากรดินโดยไม่คำนึงถึงผลเสียจากปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ ซึ่งทำให้เกิดความไม่สมดุลของแร่ธาตุและกายภาพในดิน ทำให้สิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ในดินนั้นสูญหาย หรือไร้สมรรถภาพ โดยความไม่สมดุลนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะถ้ากระบวนการนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่องตามมา กล่าวคือเมื่อผืนดินได้ถูกทำลายไปโดยกระบวนการนี้ โครงสร้างของดินก็จะสูญเสียความสามารถในการดูดซับแร่ธาตุตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนธาตุอาหารรองในพืช ต้นพืชจะอ่อนแอ ทำให้ผลผลิตที่ได้จากผืนดินดังกล่าวมีแร่ธาตุ วิตามิน และพลังชีวิต ต่ำ ต้นพืชจะขาดภูมิต้านทานโรคและทำให้เกิดการคุกคามของแมลงและเชื้อโรคได้ง่าย ซึ่งจะนำไปสู่การใช้สารเคมีฆ่าแมลงและเชื้อราเพิ่มขึ้น เมื่อผืนดินนี้ได้เสื่อมคุณภาพลง ก็จะมีวัชพืชเจริญเติบโตแข่งกับพืชหลักที่เกษตรกรปลูกขึ้น และนำไปสู่การใช้สารเคมีสังเคราะห์กำจัดวัชพืชต่อไป ข้อบกพร่องต่างๆที่เกิดขึ้นนี้ จะก่อให้เกิดวิกฤติต่อห่วงโซ่อาหาร พร้อมทั้งสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และทำลายระบบนิเวศน์ ในโลกเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรน้ำวึ่งมีการเคลื่อนที่ได้
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีเคมีการเกษตรมาใช้อย่างแพร่หลาย จนเกิดมีธุรกิจการค้าขายปุ๋ยเคมี ที่มีปริมาณนำเข้ามาในประเทศ ปีละ15,000 - 20,000 ล้านบาท และนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรอื่นๆอีก ปีละ 5,000 - 6,000 ล้านบาท เพื่อมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวนี้จะเห็นว่าการทำการเกษตรในประเทศไทย ต้องซื้อปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์มาใช้มาก ทำให้เกิดมีต้นทุนการผลิตที่สูง และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรของไทยในรอบยี่สิบปีผ่านมา ไม่ได้สูงขึ้นตามสัดส่วนของต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นนี้เลย ดังนั้นเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ของประเทศจึงมีรายได้ค่อนข้างต่ำมาก
เมื่อได้รับรู้และมองเห็นพิษภัยจากการทำเกษตรโดยวิธีใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีต่างๆ ว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ-อนามัย กับตัวของเกษตรกรผู้ผลิตเอง (โดยเกษตรกรบางรายต้องเจ็บป่วย บางรายต้องเสียชีวิตไป) และผลผลิตที่ได้นั้นๆก็ยังไปสร้างพิษภัยกับผู้บริโภคอีกต่อไปด้วย ดังนั้นจึงได้มีการพยายามแสวงหาวิธีทำการเกษตรอื่นๆที่ไม่ทำลายสุขภาพ-อนามัย เพื่อนำไปใช้ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตดังกล่าวแทน และในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมานี้ ก็เริ่มเกิดการรวมกลุ่มกันระหว่างเกษตรกรบางส่วนและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง กลับไปใช้วิธีทำการเกษตรแบบธรรมชาติดั้งเดิมหรือเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างผลผลิตทางการเกษตรตอบสนองความต้องการของตลาดและผู้บริโภคต่อไป โดยขบวนการผลิตนี้ก็จะไม่สร้างพิษภัยต่อตัวเกษตรกรเอง และไม่สร้างปัญหากับสภาพสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติแต่อย่างใด ด้วย
สภาพการตลาดของเกษตรอินทรีย์ปัจจุบันตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของโลก มีมูลค่าประมาณ 600,000 ล้านบาท ต่อปี ซึ่งมีรายละเอียดส่วนแบ่งการค้าของตลาดหลักๆอยู่ในประเทศ ดังต่อไปนี้
ประเทศต่างๆในสหภาพยุโรป มีมูลค่าประมาณ 250,000 ล้านบาท ต่อปี
- ประเทศสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท ต่อปี
- ประเทศญี่ปุ่น มีมูลค่าประมาณ 45,000 ล้านบาท ต่อปี
โดยสภาพตลาดจะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 25 ต่อปี ราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยทั่วไปจะสูงกว่าสินค้าปกติร้อยละ 25 – 50 (ขึ้นกับคุณภาพและมาตรฐานการผลิตที่มีการรับรองอย่างชัดเจนและเชื่อถือได้) อย่างไรก็ตามปริมาณสินค้าเกษตรอินทรีย์รวมทั้งโลกในปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ดังนั้นโอกาสและลู่ทางในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปขายในตลาดโลกของประเทศไทย ยังมีอยู่มาก
สำหรับประเทศไทยนั้นได้เริ่มต้นทำการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยกรมวิชาการเกษตรร่วมกับบริษัทในเครือนครหลวงและบริษัทในเครือสยามวิวัฒน์ ผลิตข้าวอินทรีย์ในท้องที่จังหวัดพะเยาและเชียงราย เนื้อที่ประมาณ 10,000 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 1,200 – 1,500 ตัน และส่งไปขายยังต่างประเทศภายใต้การควบคุมขององค์กรตรวจสอบคุณภาพของประเทศอิตาลี และต่อมาได้มีการผลิตกล้วยหอมอินทรีย์ส่งไปประเทศญี่ปุ่น โดยสหกรณ์การเกษตรท่ายาง ร่วมกับสหกรณ์ผู้บริโภคโตโต้ ในประเทศญี่ปุ่น มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 259 รายในเนื้อที่ 1,500 ไร่ มีผลผลิตของสมาชิกในโครงการประมาณ 2,000 – 2,500 ตัน/ปี
ปัจจุบัน กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงการนำร่องการผลิตพืชอินทรีย์เพื่อการส่งออกร่วมกับบริษัทส่งออก จำนวน 6 โครงการ โดยตั้งเป้าหมายการผลิตพืชอินทรีย์ 6 ชนิดเพื่อการส่งออก คือ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดฝักอ่อน กล้วยไข่ สับปะรด กระเจี๊ยบเขียว และขิง เพื่อส่งไปจำหน่ายยังประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา
ประโยชน์ที่ได้จากการทำเกษตรอินทรีย์
1. ทำให้ได้อาหารปลอดสารพิษสำหรับชีวิต ที่ดีกว่า
2. ทำให้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำเพื่อเศรษฐกิจ ที่ดีกว่า
3. ทำให้คุณภาพชีวิตและสุขภาพจิต ที่ดีกว่า
4. ทำให้ผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ ดีกว่า
5. ทำให้สิ่งแวดล้อม และมีการรักษาระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ ที่ดีกว่า
6. ทำให้คุณภาพผลผลิตทางการเกษตร ที่ดีกว่า ในด้านต่อไปนี้
- มีรูปร่างผลผลิตดีสมส่วน
- มีสีสวยเป็นปกติ
- มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ
- มีโครงสร้างของเนื้อนุ่มกรอบแน่น
- มีรสชาติดี
- ไม่มีสารพิษตกค้าง
- เก็บรักษาได้ทนทาน
– ให้สารอาหารและพลังชีวิต

มาตรฐานและข้อกำหนดเรื่องเกษตรอินทรีย์ในระดับสากล
จากที่ได้นำเสนอมาแล้วข้างต้นว่าการผลิตทางด้านเกษตรอินทรีย์นั้น จะต้องมีแผนการจัดการอย่างเป็นระบบภายใต้มาตรฐานการผลิตที่แน่นอน ดังนั้นจึงใคร่ขอนำเสนอมาตรฐานและข้อกำหนดเรื่องเกษตรอินทรีย์ในระดับสากล ของประเทศต่างๆให้ทราบดังนี้
- ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ (Organic food Production Act-OFPA) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) และมีการแก้ไขในปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996)
- ตลาดร่วมกลุ่มประเทศในยุโรป (European Unity : EU.) ได้มีการรวบรวมข้อกำหนดของผลิตผลเกษตรอินทรีย์ไว้ในข้อกำหนดของสภาตลาดร่วมยุโรป (EEC No.2092/91) และฉบับแก้ไข ข้อกำหนดส่วนใหญ่ให้คำแนะนำในการนำเข้าอาหารอินทรีย์ที่ผลิตจากประเทศอื่น ภายใต้มาตรฐานการผลิต และมาตรการตรวจสอบที่เหมือนกันทุกประการ
- ประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ประกาศใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2544 โดยอ้างอิงกฎหมายมาตรฐานเกษตรญี่ปุ่น(Japan Agriculture Standard – JAS)
- สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movement IFOAM) ได้จัดทำเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำสำหรับตรวจสอบรับรองด้านเกษตรอินทรีย์เป็นที่ยอมรับในกลุ่มประเทศในยุโรป
- สมาคมดินแห่งสหราชอาณาจักร (Soil Association UK) เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อเกษตรอินทรีย์ มีประวัติความเป็นมายาวนาน ได้พัฒนามาตรฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในสหราชอาณาจักร
- องค์กรเครือข่าย (Pesticide Network Action : PNA) เป็นองค์กรเครือข่ายของสหราชอาณาจักร และประเทศเนเธอแลนด์ ซึ่งมีกิจกรรมที่จะจัดทำมาตรฐานด้านเกษตรอินทรีย์สากลให้สามารถใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มาตรฐานและข้อกำหนดเรื่องเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย
ประเทศไทย ได้มีการกำหนดใช้มาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ หลังจากผ่านการปรับปรุงแก้ไขครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2543 โดยคณะทำงานเฉพาะกิจปรับปรุงมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ของประเทศไทยและผ่านการเห็นชอบ ของคณะกรรมการบริหารงานวิจัยและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีประเด็นหลักสำคัญของมาตรฐานการผลิต ดังนี้
พื้นที่ปลูกต้องไม่มีสารเคมีสังเคราะห์ตกค้าง
- ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ในกระบวนการผลิต
- ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ที่คลุกสารเคมีสังเคราะห์
- ไม่ใช้สิ่งที่ได้จากการตัดต่อทางพันธุกรรม
- ไม่ใช้มูลสัตว์มีการที่เลี้ยงอย่างผิดมาตรฐาน
- ปัจจัยการผลิตจากภายนอกต้องได้รับการรับรองมาตรฐานด้วย
- กระบวนการผลิตต้องปราศจากสิ่งปนเปื้อนสารเคมีสังเคราะห์ทั้งปวง
- ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างโครงการระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ ที่มีการดำเนินงานในปัจจุบัน มีดังนี้
1. โครงการผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพ อัลจินัว ของกรมวิชาการเกษตร ที่ดำเนินการในเขตชลประทานภาคกลาง โดยการลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง 50% และหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ "อัลจินัว" ( เป็นปุ๋ยชีวภาพที่เกิดการย่อยหมักเศษวัสดุที่เหลือทิ้งจากการทำการเกษตร กับหัวเชื้อปุ๋ยชีวภาพประเภทสาหร่ายเขียว ชื่ออัลจินัว) พบว่า ข้าวที่ได้จากใช้ปุ๋ยชีวภาพ "อัลจินัว" ร่วมกับปุ๋ยเคมีที่มีการลดจำนวนลง 50 % นี้ สามารถให้ผลผลิตข้าวสูงกว่าระบบใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดิม ถึง 10%
2. โครงการผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์ พันธุ์สุพรรณบุรี 1 โดยใช้น้ำหมักชีวภาพ ของเกษตรกรเครือข่ายการผลิตข้าวในโครงการพัฒนาเกษตรยั่งยืน สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ที่อยู่ ในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี สุพรรณบุรี และชัยนาท นั้น มีวิธีการใช้น้ำหมักชีวภาพ ประกอบกับการใช้ประโยชน์ได้ จนสามารถลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมี และพบว่าวิธีใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรพืชผัก ผลไม้ และสมุนไพร นั้นทำให้มีรายได้สุทธิสูง ถึง 1,541 บาท/ไร่ ส่วนวิธีใช้สารเคมีมีรายได้สุทธิเพียง 946 บาท/ไร่ คิดเป็นส่วนต่างรายได้สุทธิที่เพิ่มขึ้น 595 บาท/ไร่ (เพิ่มขึ้น 62.90%)
3. โครงการผลิตส้มโอเกษตรอินทรีย์ พันธุ์ขาวแตงกวา โดยลดสารเคมี 100% และลดปุ๋ยเคมี 85% ของนายเฉลิม อ่วมดี เกษตรกร ต.ท่าฉนวน อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ซึ่งปลูกส้มโอพันธุ์ขาวแตงกว่า จำนวน 260 ต้น พื้นที่ 16 ไร่ โดยใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรหอยเชอรี่ ผลไม้และสมุนไพร กับส้มโอขาวแตงกวา อายุ 12 ปี พบว่า วิธีการใช้น้ำหมักชีวภาพนี้มีรายได้สุทธิสูงขึ้น 50,867 บาท/ไร่ ส่วนวิธีใช้สารเคมี มีรายได้สุทธิเพียง 41,407 บาท/ไร่ คิดเป็นส่วนต่างรายได้สุทธิที่เพิ่มขึ้น 9,460 บาท/ไร่ (เพิ่มขึ้น 22.85%)
4. โครงการผลิตส้มโอเกษตรอินทรีย์ พันธุ์ขาวแตงกวา โดยลดสารเคมี 100% และลดปุ๋ยเคมี 50% ของแปลงเรียนรู้ ธ.ก.ส. จังหวัดชัยนาท โดยนายเสรี กล่ำน้อย เจ้าของสวนส้มพวงฉัตร ใช้น้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ ในการผลิตส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา บนพื้นที่ 67 ไร่ มีส้มโอจำนวน 2,500 ต้น ในช่วง 2 ปีแรก ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีเป็นจำนวนเงินประมาณ 200,000 บาทต่อปี ต่อมาในปีที่ 3 - 4 ได้เปลี่ยนแปลงการผลิตโดยลดการใช้สารเคมีลง 100% และลดปุ๋ยเคมีลง 50% แล้วหันมาใช้น้ำหมักชีวภาพสูตร ฮอร์โมนไข่ ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ และสมุนไพรแทน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพียงปีละประมาณ 50,000 บาทต่อปี สามารถลดต้นทุนลงได้ 150,000 บาทต่อปี (ลดต้นทุนลง 75%)
5. โครงการผลิตส้มเขียวหวานเกษตรอินทรีย์ โดยลดสารเคมี 80% และลดปุ๋ยเคมี 85% ของนายพินิจ เกิดรี เกษตรกร ต.หนองสรวง อ.วิหารแดง จ.สระบุรี ปลูกส้มเขียวหวานจำนวน 1,200 ต้น พื้นที่ 20 ไร่ โดยใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรหอยเชอรี่ ผักสด ผลไม้ ฮอร์โมนไข่นมสด และสมุนไพร ร่วมกับปุ๋ยหมักแห้งชีว-ภาพ พบว่า วิธีใช้น้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพนี้มีรายได้สุทธิสูง คือ 22,452 บาท/ไร่ ส่วนวิธีใช้สารเคมีนั้น มีรายได้สุทธิเพียง 18,910 บาท/ไร่ คิดเป็นส่วนต่างรายได้สุทธิที่เพิ่มขึ้น 3,542 บาท/ไร ่ (เพิ่มขึ้น 18.73%)
6. โครงการผลิตชมพู่เกษตรอินทรีย์ พันธุ์เพชรน้ำผึ้ง ของนางสมหมาย หนูแดง เกษตรกร (ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ด้านเกษตรกรรม) ต.หนองแขม อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ผลิตชมพู่พันธุ์เพชรน้ำผึ้งจำนวน 600 ต้น พื้นที่ 6 โดยใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรถั่วเหลืองหรือนมสด และปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพโดยไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมี ทำให้มีรายได้สุทธิจากการผลิตชมพู่อินทรีย์ประมาณ 55,536 บาท/ไร่ ส่วนวิธีใช้สารเคมีมีรายได้สุทธิเพียง 47,719 บาท/ไร่ คิดเป็นส่วนต่างรายได้สุทธิที่เพิ่มขึ้น 7,817 บาท/ไร่ (เพิ่มขึ้น 16.38%)
7. โครงการผลิตแตงกวาเกษตรอินทรีย์ ของเกษตรกรเครือข่ายการผลิตผักในโครงการ
พัฒนาเกษตรยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี ลพบุรี โดยใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรผักสด ผลไม้ ถั่วเหลือง หรือนมสด และปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ ในการผลิตแตงกวา (โดยลดปุ๋ยเคมีและสารเคมีลง 100%) พบว่ารายมีได้สุทธิสูงประมาณ 13,201 บาท/ไร่ ส่วนวิธีใช้สารเคมีมีรายได้สุทธิสูงประมาณ 11,928 บาท/ไร่ คิดเป็นส่วนต่างรายได้สุทธิที่เพิ่มขึ้น 1,273 บาท/ไร่ (เพิ่มขึ้น 10.67%)
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จะสามารถเห็นตัวอย่างความสำเร็จของการทำเกษตรอินทรีย์ได้ส่วนหนึ่ง แม้บางรายยังอาจไม่สามารถทำเกษตรอินทรีย์ ได้ตามมาตรฐานได้เต็มที่ 100 % นัก แต่ก็ได้แสดงความตั้งใจจริงที่ได้เริ่มดำเนินการให้เห็นแล้ว และจะเห็นว่าผลลัพธ์ตอบแทนการดำเนินงานนั้น มีค่าเพิ่มขึ้นสูงพอสมควร ทั้งในด้านการเพิ่มรายได้สุทธิและการลดต้นทุนการผลิต พร้อมทั้งยังให้สิ่งตอบแทนอีกมากมายที่ไม่อาจสามารถจะตีราคาได้ คือสุขภาพ-อนามัย ในตัวของเกษตรผู้ผลิตและครอบครัวของเขาเอง อีกทั้งยังสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ ส่วนหนึ่งของโลกไว้ได้ ด้วย

การจะปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ ควรจะมีการเริ่มต้นได้อย่างไร
การเกษตรปัจจุบันนั้นสามารถปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ได้ โดยเริ่มต้นศึกษาหาความรู้จากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต่างๆที่ถูกกำหนดขึ้นโดยกรมวิชาการเกษตร ควรเริ่มต้นด้วยความสนใจและศรัทธาในแนวทางการปฏิบัติอย่างจริงใจ สำนักงานเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ และเกษตรตำบล ในท้องที่ของท่านเป็นแหล่งที่จะให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์แก่ท่านได้ และเมื่อเริ่มต้นลงมือปฏิบัติตามแนวทางข้างต้นแล้วก็ถือได้ว่า ได้ก้าวเข้าสู่การทำเกษตรอินทรีย์ในระยะปรับเปลี่ยนแล้ว จากนั้นเมื่อสามารถปฏิบัติตามแนวทางอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไม่นานก็จะเป็นเกษตรอินทรีย์ได้สมบูรณ์แบบ ทั้งนี้จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับประเภทของเกษตรอินทรีย์ที่จะผลิตซึ่งได้ถูกกำหนดไว้ในมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว ข้อสำคัญนั้นอยู่ที่การทำความเข้าใจเกษตรอินทรีย์ให้ถ่องแท้ มีความตั้งใจจริง มีความขยันหมั่นเพียร ไม่ท้อถอยต่อปัญหาหรืออุปสรรคใด ก็จะบรรลุวัตถุประสงค์และประสบความสำเร็จได้ตามที่ตั้งใจไว้ และท้ายสุดเมื่อเกษตรกรมั่นใจว่าสามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ได้แล้ว ก็สามารถขอใบรับรองพืชหรือผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากภาครัฐ ที่สถาบันพืชอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตร เขตจตุจักร กทม. โทร 02-5797520 ( โดยภาครัฐจะมีส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจมาตรฐานการผลิต แล้วออกใบรับรองให้ต่อไป ) ซึ่งใบรับรองพืชหรือผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากภาครัฐนี้ จะเป็นหลักประกันให้ผู้บริโภคแน่ใจว่าเป็นผลผลิตจากการทำเกษตรอินทรีย์จริง ซึ่งแน่นนอนที่สุดในปัจจุบันคือสินค้าจากเกษตรอินทรีย์ที่มีมาตรฐานจริงยังมีความต้องการของตลาดอีกมาก ทำให้ระดับราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้นสูงกว่าสินค้าการเกษตรทั่วๆไป

บทสรุปเรื่องเกษตรอินทรีย์
จากที่ได้นำเสนอเรื่องเกษตรอินทรีย์ ตามข้อมูลดังกล่าวข้างต้นแล้วนั้น ในส่วนท้ายนี้จะขอสรุปภาพรวมให้ทราบว่า เกษตรอินทรีย์ คือระบบทำการเกษตรด้วยหลักธรรมชาติ เป็นระบบการผลิตที่คำนึงสภาพแวดล้อม รักษาสมดุลของธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีระบบการจัดการด้านนิเวศน์วิทยาที่คล้ายคลึงธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ ที่ก่อให้เกิดมลพิษในสภาพแวดล้อม รวมถึงการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ประโยชน์ด้วย หากเกษตรกรไทยสามารถนำรายละเอียดเรื่องเกษตรอินทรีย์นี้ไปใช้เป็นแนวทางในการผลิตทางการเกษตรได้ ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเกษตรอย่างยิ่ง กล่าวคือสิ่งแรกที่จะได้คือสุขภาพ-อนามัย ที่ดีต่อตัวของเกษตรผู้ผลิตและครอบครัวของเขาเอง โดยจะไม่ต้องไปผจญกับพิษภัยของสารเคมีสังเคราะห์ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อย่างโหดร้ายทารุณ (ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่าระบบความตายแบบผ่อนส่ง) ประโยชน์ต่อมาที่จะได้คือรายได้ที่เพิ่มขึ้น เพราะเกษตรอินทรีย์สามารถจะลดต้นทุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรจากปุ๋ยเคมีและสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตรต่างๆ ซึ่งปัจจุบันทวีราคาสูงขึ้นมาก โดยหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสมุนไพรต่างๆที่ต้นทุนถูกกว่า สำหรับรายได้ที่เพิ่มนั้นก็เป็นผลมาจากราคาผลผลิตที่แพงขึ้น ซึ่งหากสามารถสร้างขบวนการผลิตได้มาตรฐานถึงขั้นหน่วยงานของรัฐออกใบรับรองพืชหรือผลผลิตเกษตรอินทรีย์ให้แล้ว ก็จะเป็นหลักประกันให้ผลผลิตนั้นมีราคาสูงขึ้นได้ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนในตลาดระดับกลางและระดับสูงหันมาให้ความสนใจบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์มากเพราะมีความปลอดภัยต่อสุขภาพและอนามัยกับตัวเขาเอง อีกทั้งในปัจจุบันนี้จำนวนผลผลิตทางด้านเกษตรอินทรีย์ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดอย่างมาก (แต่ต้องควบคุมคุณภาพผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐานของตลาดนั้นๆ อย่างจริงจัง) ส่วนประโยชน์ที่จะเสนอในข้อสุดท้ายนี้ ก็คือเกษตรอินทรีย์เป็นขบวนการผลิตทางการเกษตรรักษาสภาพแวดล้อม และระบบนิเวศน์ของประเทศไว้อย่างมาก ทำให้ประหยัดงบประมาณของประเทศที่ต้องนำมาใช้แก้ปัญหาสารพิษตกค้างจากขบวนการผลิตทางการเกษตรสารเคมีสังเคราะห์ต่างๆ ได้ และสามารถนำงบประมาณนี้ไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ แทนต่อไป
ประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีความเหมาะสมในด้านต่างๆทั้งปวงที่จะผลิตสินค้าทางการเกษตรในระบบเกษตรอินทรีย์ได้ หากสามารถเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านนี้ในระดับนานาชาติได้ ก็จะใช้เพิ่มเป็นทางเลือกอีกช่องทางหนึ่งให้แก่เกษตรกรไทยในการแก้ไขปัญหาเรื่องความยากจนที่มีอยู่ และยังใช้เป็นช่องทางค้าขายของประเทศไทยเพื่อนำเงินตราต่างประเทศ มาแก้ไขวิกฤตการน้ำมันที่มีราคาแพงในปัจจุบันได้

สวัสดีครับ